]ลองมาดูกันนะครับ ว่า การจัดการเรียนการสอนโดยใช้การวิจัยเป็นฐาน (RBL) การจัดการเรียนการสอนแบบResearch-Based Learning (RBL) เป็นอย่างไร

โดย ผศ.ดร.กฤษดา กรุดทอง
รองอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการ
สถาบันราชภัฏสวนสุนันทา

 บทสรุป

 การจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาในปัจจุบันมุ่งการพัฒนาการเรียนรู้ที่ผู้เรียนเป็นสำคัญโดยนำเอาการวิจัยมาใช้เป็นเครื่องมือในการจัดการเรียนรู้หรือจัดกระบวนการเรียนการสอนโดยใช้กระบวนการวิจัย โดยมีเชื่อว่าการวิจัยเป็นกระบวนการสร้างคุณลักษณะบัณฑิตที่พึงประสงค์ได้ บทความนี้จะได้เสนอแนวคิดและวิธีการของการจัดการศึกษาแบบ RBL เพื่อจะได้เกิดแนวคิดและแนวทางการในการนำไปใช้ปฏิบัติให้เกิดผลต่อไป

 

1.บทนำเข้าสู่การจัดการศึกษาแบบ RBL

 เอกสารนี้ต้องการเสนอแนวคิดและวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการสอนแบบ RBL เพื่อให้อาจารย์ของสถาบันราชภัฏสวนสุนันทาได้ใช้เป็นแนวให้การจัดการเรียนรู้แก่ผู้เรียนในระดับอุดมศึกษา ตามแนวทางของการปฏิรูปการเรียนรู้แห่งนัยของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ 2542 โดยขอเสนอสาระสำคัญเกี่ยวกับ(ก)นิยาม(ข)เหตุผล (ค)ลักษณะ (ง)ทฤษฎี (จ)รูปแบบ(ฉ)วิธีการจัด การศึกษาแบบ RBL ตามลำดับ

 

2.นิยามของการจัดการศึกษาแบบ RBL

 การเรียนรู้เป็นการจัดกิจกรรมหรือประสบการณ์เพื่อให้ผู้เรียนเกิดพฤติกรรมที่พึ่งประสงค์ กระบวนการเรียนรู้ประกอบด้วยการกำหนดวัตถุประสงค์การเรียนรู้ การจัดกิจกรรมหรือประสบการณ์เรียนรู้ การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ ตามรูป

 การจัดการเรียนรู้แก่ผู้เรียนในสถานศึกษาเกี่ยวข้องการทั้งกระบวนการเรียนและการสอน การเรียนนั้นเป็นบทบาทของผู้เรียนส่วนการสอนเป็นบทบาทของผู้สอน การเรียนรู้แบบ RBL เป็นการจัดการเรียนการสอนที่นำ ‘การวิจัย’เข้ามาเป็นเครื่องมือของการจัดการเรียนการสอน

 

3.เหตุผลของการจัดการศึกษาแบบ RBL

รศ.ดร.ไพทูรย์ สินลารัตน์ คณบดีคณะครุศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้กล่าวไว้ในหนังสือชื่อ ‘การเรียนการสอนที่มีการวิจัยเป็นฐานว่า ’การจัดการเรียนรู้แบบเดิมนั้นไม่สามารถตอบสนองความต้องการใหม่ได้ เมื่อก่อนสถาบันอุดมศึกษาผลิตคนแบบ’จำทำ’เพื่อไปทำงานในระบบราชการ แต่ปัจจุบันการอุดมศึกษาต้องผลิตคนแก้ปัญหาด้วยตัวเองได้สูงไปให้แก่ระบบธุรกิจ การเรียนการสอนแบบ’พูดบอกเล่า’ ไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการใหม่ของอุดมศึกษาได้อีกต่อไป ตามรูป

rbl1

 ศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา อดีตอธิการบดีของจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยได้กล่าวว่าในหนังสือชื่อ ‘การศึกษาที่มีการวิจัยเป็นฐาน’ ว่าการวิจัยนั้นเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่สามารถสร้างคุณลักษณะหลายอย่างที่การศึกษาต้องการได้ การวิจัยสามารถปรับเปลี่ยนบุคคลให้ตั้งอยู่บนฐาน ข้อมูลและเหตุผล มีวิจารณญาณ วิเคราะห์ สังเคราะห์ สร้างสรรค์และเกิดนวัตกรรมได้ ขั้นตอนของการวิจัยไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงความรู้ การประเมินความเชื่อได้ของความรู้ การตีค่า ความอิสระทางความคิดและเป็นตัวของตัวเองย่อมนำมาใช้เป็นเครื่องมือของการเรียนรู้ได้ทั้งสิ้น ตามรูป

 ศ.ดร.สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ได้กล่าวไว้ในบทความเรื่อง การสอนแบบ Research-Based Learning ว่า จุดเริ่มต้นของการสอนแบบ RBL มาจากความสงสัยที่ว่า เป็นไปได้ไหมที่เราจะใช้วิธีการแสวงหาความรู้เป็นวิธีสอน ถ้าการศึกษาต้องการสร้างบัณฑิตให้เป็นผู้เพียบพร้อมด้วยสติปัญญา มีความรู้จักตนเอง ใฝ่รู้อยู่เสมอ คิดริเริ่ม สร้างสรรค์ รอบคอบ ไตร่ตรองเหตุผลรับผิดชอบ เห็นการณ์ไกล มีศีลธรรม เสียสละ ซึ่งสอดคล้องคุณธรรมของนักวิจัยแล้ว ทำไมจึงไม่ใช้การวิจัยเป็นกระบวนการเรียนการสอนเสียเลย

 

 

4. ลักษณะสำคัญของการจัดการศึกษาแบบ RBL

ลักษณะของการจัดการศึกษาแบบ RBL มีดังนี้ คือ

หลักการที่ 1.แนวคิดพื้นฐาน
เปลี่ยนแนวคิดจาก’เรียนรู้โดยการฟัง/ตอบให้ถูก’ เป็น ‘การถาม/หาคำตอบเอง’

หลักการที่ 2.เป้าหมาย เปลี่ยนเป้าหมายจาก’การเรียนรู้โดยการจำ/ทำ/ใช้’ เป็นการคิด/ค้น/แสวงหา’

หลักการที่ 3.วิธีสอน เปลี่ยนวิธีสอนจาก’ การเรียนรู้โดยการบรรยาย’ เป็น ‘การให้คำปรึกษา’

หลักการที่ 4.บทบาทผู้สอน เปลี่ยนบทบาทผู้สอนจาก’ การเป็นผู้ปฏิบัติเอง’ เป็น ‘การจัดการให้ผู้เรียนปฏิบัติ

 S 5406748


5. ทฤษฎีเบื้องหลังการจัดการศึกษาแบบ RBL

การวิจัยเป็นกิจกรรมการแสวงหาความรู้ใหม่ การใช้การวิจัยเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ก็เพื่อต้องการผลจากการวิจัย 2 ประการ คือ (1)ให้ผู้เรียนได้ค้นพบความรู้ด้วยตนเอง ตามแนวคิดของ(ก)การจัดการศึกษาแบบ Constructivism ที่เชื่อว่า การเรียนรู้เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นภายในตัวบุคคล บุคคลเป็นผู้สร้างความรู้ด้วยตนเองจากการสัมพันธ์สิ่งที่พบเห็นกับความรู้ความเข้าใจเดิมที่บุคคลมีอยู่เดิม หรือ(ข)แนวคิดของ Experience Learning ที่ว่า Experience learning takes the student out of the detached role of a vicarious learner and plunges her into the role of participant observer, performer, or even teacher หรือ(ค)แนวคิดของการเรียนรู้แบบ Active Learning ที่ว่า องค์ความรู้หรือกระบวนการเรียนรู้ที่ผู้เรียนได้รับจะมีคุณค่าและถาวรมากกว่าถ้าผู้เรียนเปลี่ยนจากการเรียนแบบรับ(passive learning)มาเป็นแบบรุก(active learning) (2)ให้ผู้เรียนได้พัฒนาคุณลักษณะที่การศึกษาต้องการประกอบด้วยการเป็นผู้ไฝ่รู้ การเป็นผู้มีวิธีการแสวงหาความรู้ การเป็นผู้มีความสามารถในการแก้ปัญหาด้วยตนเอง การเป็นผู้คิดอย่างอิสระไม่ต้องพึ่งพา การเป็นผู้นำตนเองและผู้อื่น อันเป็นคุณลักษณะที่การศึกษาพึงประสงค์

 

6. รูปแบบของการจัดการศึกษาแบบ RBL

การจัดการศึกษาแบบ RBL นั้นมีรูปแบบการจัดการศึกษาดังนี้

ก. RBL ที่ใช้ผลการวิจัยเป็นสาระการเรียนการสอน ประกอบด้วย

  1. (1)เรียนรู้ผลการวิจัย/ ใช้ผลการวิจัยประกอบการสอน
  2. (2)เรียนรู้จากการศึกษางานวิจัย/การสังเคราะห์งานการวิจัย

ข.RBL ที่ใช้กระบวนการวิจัยเป็นกระบวนการเรียนการสอน ประกอบด้วย

  1. (3)เรียนรู้วิชาวิจัย/วิธีทำวิจัย
  2. (4)เรียนรู้จากการทำวิจัย/รายงานเชิงวิจัย
  3. (5)เรียนรู้จากการทำวิจัย/ร่วมทำโครงการวิจัย
  4. (6)เรียนรู้จากการทำวิจัย/วิจัยขนาดเล็ก
  5. (7)เรียนรู้จากการทำวิจัย/วิทยานิพนธ์ ดังรูป


7.ตัวอย่างวิธีการจัดการศึกษาแบบ RBL


ต่อไปนี้ขอเสนอตัวอย่างการจัดการศึกษาแบบ RBL ของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งเป็นกรณีศึกษา

 delaware university

มหาวิทยาลัย Delaware,USA เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐที่จัดการศึกษาระดับปริญญาตรี
ในปี ค.ศ.1997 มหาวิทยาลัยกำหนดวัตถุประสงค์ที่จะจัดโปรแกรมการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรีของมหาวิทยาลัยโดยใช้กระบวนการวิจัย กำหนดเป้าหมายให้ผู้เรียนระดับปริญญาตรีเข้ามีส่วนร่วมในงานวิจัยของอาจารย์ให้มากที่สุด จัดสภาพแวดล้อมที่เน้นการศึกษาค้นคว้าให้กับผู้เรียนและให้ผู้เรียนร้อยละ50นำการวิจัยไปใช้ในการทำงานหรือศึกษาต่อ มหาวิทยาลัยทำกลยุทธ์ให้อาจารย์ทุกวิชาเข้าร่วมโครงการนี้ เพิ่มทุนการวิจัยแก่นักศึกษาปริญญาตรี เพิ่มวิชาที่เน้นการศึกษาค้นคว้าแก่นักศึกษาปีที่3-4 อย่างน้อย2วิชา กระบวนการทำโดยจัดให้นักศึกษาเป็นผู้ช่วยวิจัยแก่อาจารย์ จัดโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษาทำวิจัย จัดค่ายวิจัยภาคฤดูร้อนและให้นักศึกษาทำวิทยานิพนธ์ เป็นต้น

ผลปรากฏว่า อาจารย์ร้อยละ 63 เข้าร่วมในโครงการนี้ (จำนวน 604คน จาก 957คน) นักศึกษาระดับปริญญาตรีเข้าร่วมในโครงการ โปรแกรมวิทยาศาสตร์และวิทยาศาสตร์เข้าร่วมโครงการร้อยละ 90 โปรแกรมสังคมศาสตร์ พฤติกรรมศาสตร์และเศรษฐศาสตร์เข้าร่วมโครงการร้อยละ 81 และโปรแกรมคณิตศาสตร์เข้าร่วมโครงการร้อยละ55(จำนวน 422 คน จาก 504คน)

(คัดจากประทีป เมธาคุณวุฒิ 2546)

 

8. ตัวอย่างวิธีการจัดกิจกรรมการศึกษาแบบ RBL


ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้ผลการวิจัย

ก.วัตถุประสงค์
ให้ผู้เรียนเรียนรู้เนื้อหาสาระของศาสตร์จากผลงานวิจัย

ข.กิจกรรมการเรียนการสอน
(1) ผู้สอนรวบรวมบทคัดย่องานวิจัย
(2) ผู้สอนแนะนำวิธีการอ่าน การจับประเด็นสำคัญ
(3) ให้นักศึกษาศึกษาสาระของศาสตร์จากบทคัดย่องานวิจัย
และสรุปความรู้
(4) ให้นักศึกษาค้นคว้างานวิจัยเพิ่มเติม

ค.การประเมิน
(1)ประเมินการแสวงหาแหล่งความรู้
(2)ประเมินความสามารถในการสรุปสังเคราะห์ความรู้
(3)ประเมินสาระความรู้ของศาสตร์

(คัดจากสมหวังพิธยานุวัฒน์และทัศนีย์ บุญเติม 2546)

 

9.บรรณานุกรรม

1.จรัส สุวรรณเวลา การศึกษาที่มีวิจัยเป็นฐาน ปาฐกถาพิเศษเนื่องในโอกาสวันสถาปนาคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ครั้งที่17 2545
2. ไพทูรย์ สินลารัตน์(บรรณาธิการ) การเรียนการสอนที่มีการวิจัยเป็นฐาน
(ประมวลบทความ) คณะครุศาตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พิมพ์ครั้งที่2 2545

 

==== เพิ่มเติม ===

การจัดการเรียนรู้แบบใช้การวิจัยเป็นฐาน (Research - Based Learning : RBL)


1. ความหมายของการจัดการเรียนรู้แบบใช้การวิจัยเป็นฐาน
ล้วน สายยศ และอังคณา สายยศ (2538 : 47) ให้ความหมายของการวิจัยว่า เป็นกระบวนการสืบหาความจริงเกี่ยวกับปรากฏการณ์ตามธรรมชาติอย่างมีระบบ มีการควบคุม การสังเกตการบันทึก การจัดระเบียบข้อมูล การวิเคราะห์และตีความหมายเพื่อให้ได้เป็นข้อเท็จจริงที่สามารถนำมาสร้างเป็นข้อสรุปเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของปรากฏการณ์นั้น ๆ และนำผลที่ได้มาพัฒนาหรือสร้างกฎ ทฤษฎี ที่ทำให้ควบคุม หรือทำนายเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้

เสาวนีย์ กานต์เดชารักษ์ (2539 : 27-29) ได้ให้ความหมายเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้แบบใช้การวิจัยเป็นฐานไว้ว่าเป็นการนำแนวคิดการวิจัยมาเป็นพื้นฐานในการเรียนการสอนและผสมผสานวิธีการสอนแบบต่าง ๆ เพื่อช่วยให้ผู้เรียนได้ศึกษา ค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง จากตำราเอกสารสื่อต่าง ๆ คำบอกเล่าของอาจารย์ รวมทั้งจากผลการวิจัย และงานวิจัยต่าง ๆ ตลอดจนทำรายงานหรือทำวิจัยได้

อมรวิชช์ นาครทรรพ (2546 : 12) ได้ให้ความหมายเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้แบบใช้การวิจัยเป็นฐาน ไว้ว่าเป็นกระบวนการเรียนการสอนที่เน้นให้ผู้เรียนเรียนรู้จากการศึกษาค้นคว้าและค้นพบข้อเท็จจริงต่าง ๆ ในเรื่องที่ศึกษาด้วยตนเอง โดยอาศัยกระบวนการวิจัยอย่างเป็นระบบเป็นเครื่องมือสำคัญ
สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ และทัศนีย์ บุญเติม (2547 : 37) ได้ให้ความหมายเกี่ยวกับ การจัดการเรียนรู้แบบใช้การวิจัยเป็นฐาน ไว้ว่า เป็นการสอนเนื้อหาวิชา เรื่องราวกระบวนการทักษะ และอื่น ๆ โดยใช้รูปแบบการสอนชนิดที่ทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้เนื้อหาหรือสิ่งต่าง ๆ ที่ต้องการสอนนั้น โดยอาศัยพื้นฐานกระบวนการวิจัย

ทิศนา แขมมณี (2548 : 3) ได้ให้ความหมายเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้แบบใช้การวิจัยเป็นฐานหรือใช้การวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ ก็คือ การจัดให้ผู้เรียนและใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์หรือกระบวนการสืบสอบในศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ศึกษาวิจัย ในการดำเนินการแสวงหาความรู้ใหม่หรือคำตอบที่เชื่อถือได้

จรัส สุวรรณเวลา (2546 : 16) ได้ให้ความหมายของการวิจัยว่า เป็นการได้มาซึ่งความรู้ที่ทำให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ในแต่ละสาขาและกระบวนการวิจัยยังทำให้ผู้วิจัยได้มีการวางแผนเตรียมการและดำเนินการอย่างเป็นระบบจนค้นพบความจริง สร้างความรู้ใหม่ที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์
นอกจากนี้ การวิจัยได้พัฒนาคุณลักษณะให้ผู้วิจัยต้องมีการคิดวิเคราะห์มีความคิดสร้างสรรค์ มีความ
ซื่อสัตย์ มีความอดทน นับได้ว่าการวิจัยมีบทบาทและความสำคัญทั้งในการพัฒนาสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการ การพัฒนาคนและพัฒนางานและส่งผลไปสู่การพัฒนาประเทศ

ตาราง 1 บทบาทครูและผู้เรียนในการเรียนการสอนแบบครูใช้ผลการวิจัย

table rbl

บทความล่าสุด

Go to top