ในหลวง ร. 9 ทรงมีแนวพระราชดำริว่า การจัดการศึกษาจะต้องเป็นไปอย่างครบถ้วน ทั้งในด้านลึก คือต้องรู้ลึกรู้จริง ไม่เลือกที่จะศึกษาเพียงบางส่วน ต้องศึกษาแต่ละเรื่องด้วยจิตใจที่เที่ยงตรงเป็นกลาง ไม่เรียนรู้เฉพาะในตำรา แต่ต้องมีการฝึกฝนปฏิบัติจนเกิดความเชี่ยวชาญด้วย

สรุปพระราชดำรัส รัชกาลที่ ๙

ด้านการศึกษา

๒๘ มกราคม ๒๔๙๕

          พระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ในพิธีเปิดศาลคดีเด็กและเยาวชนกลาง และสถานพินิจและคุ้มครองเด็กกลาง สรุปดังนี้

          “...อนาคตของชาติทุกชาติย่อมขึ้นอยู่แก่เด็ก เพราะเด็กก็คือผู้ใหญ่ในเวลาข้างหน้าถ้าบุคคลได้รับการอบรมบ่มนิสัย ให้เป็นพลเมืองดีอยู่ในศีลในธรรม เคารพต่อบทกฎหมายของบ้านเมืองเสียตั้งแต่ยังเยาว์ เมื่อเติบใหญ่ขึ้น พลเมืองของประเทศก็จะมีแต่คนดี และประเทศ จะเจริญก้าวหน้าต่อไปได้ ก็โดยต้องมีพลเมืองดีดังว่านี้...”

๑๔ กรกฎาคม ๒๔๙๘

          พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ พระราชทานเนื่องในพิธีประสาทปริญญาและอนุปริญญาของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. ๒๔๙๘ สรุปดังนี้

          “...แม้ท่านจะได้เรียนสำเร็จตามหลักสูตรจนได้รับปริญญาแล้วก็ดีขอให้เข้าใจว่า นี่เป็นเพียงชั้นต้นของการศึกษาเท่านั้น ท่านจงพยายามศึกษาและฝึกฝนตนเองต่อไป เพราะสรรพวิทยาการด้านสาขาวิทยาศาสตร์ทั้งหลายนั้น การทดลองค้นคว้า ช่วยให้ได้ความรู้ใหม่ ๆ ขึ้นมาอยู่เสมอ ถ้าท่านไม่ศึกษาเพิ่มเติมไว้ ต่อไปไม่ช้าท่านจะล้าสมัย...”

๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๐

          พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ในพิธีพระราชทานประกาศนียบัตรนักเรียนวชิราวุธวิทยาลัย สรุปดังนี้

          “...การที่เราศึกษาวิชาความรู้นั้น ความจริงไม่ใช่เพื่อใครเลย แต่เพื่อตัวเราเองในการที่จะได้ดำเนินชีวิตต่อไปในวันหน้า ถ้าเรียนดีก็จะได้ใช้ความรู้ที่เรียนมาประกอบกิจการให้เป็นประโยชน์เป็นที่พึ่งแก่ตนและเป็นที่ชื่นชมแก่วงศ์ตระกูลต่อไปด้วย...”

๑๑ กรกฎาคม ๒๕๐๐

          พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรและอนุปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สรุปดังนี้

          “...ในการที่จะเอาหลักวิชาที่ได้เล่าเรียนไปใช้เพื่อประกอบกิจการงานต่อไปนั้น ควรจะคำนึงถึงสภาพความเป็นอยู่ของท้องที่ แลถึงผลสะท้อนอันอาจมีขึ้น โดยเฉพาะในประการต่าง ๆ จะได้เป็นหลักประกันว่า กิจการงานที่จะทำขึ้นนั้น ได้พิจารณาศึกษาโดยรอบคอบในทุก ๆ ด้านแล้ว ชอบด้วยหลักปฏิบัติที่เหมาะสมกับสภาพและความต้องการของประเทศเรา...”

๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๐๐

          พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรและประกาศนียบัตรของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สรุปดังนี้

          “...อันสิ่งที่เรียกว่า “อุดมคติ” นั้น ก็คือมโนภาพหรือความนึกคิดถึงความดีความงามอันเลอเลิศในสิ่งหนึ่งสิ่งใด ซึ่งถ้าเป็นไปตามมโนภาพนั้นแล้ว ก็จะจัดว่าเป็นของที่ดีที่งามเลิศด้วยประการทั้งปวง กล่าวโดยทั่วไปมนุษย์เราย่อมปรารถนาจะประสบแต่สิ่งที่ดีงามเจริญตาเจริญใจจึงควรจะได้มีอุดมคติด้วยกันทั้งนั้น แต่หากควรเป็นไปในทางไม่ก่อความเบียดเบียนแก่ผู้อื่นโดยเพ่งเล็งถึงประโยชน์สุขของผู้อื่นหรือส่วนรวมด้วย การเล็งผลดีหรืองามเลิศดังว่านี้ ถ้าหากเป็นไปเพียงแต่เพื่อประโยชน์สุขของตนเองเท่านั้น และเป็นการเบียนประโยชน์สุขของผู้อื่นแล้วก็จะกลายเป็นความเห็นแก่ตัวหาควรได้ชื่อว่า “อุดมคติ” ไม่...”

๒๓ มกราคม ๒๕๐๓

          พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สรุปดังนี้

          “...การที่จะใช้ความรู้ในการประกอบอาชีพต่อไปข้างหน้า ควรนึกถึงเกียรติและความซื่อตรงเพื่อประโยชน์ส่วนรวมให้มาก บ้านเมืองจะเจริญรุ่งเรือง ก็ด้วยอาศัยคนดีที่มีความรู้ช่วยกันประกอบกิจการงาน...”

๑๘ เมษายน ๒๕๐๓

          พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรและอนุปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สรุปดังนี้

          “...ข้าพเจ้าขอแสดงความหวังว่า นิสิตที่สำเร็จการศึกษา ซึ่งนับวันจะทวีจำนวนมากขึ้น เมื่อออกจากมหาวิทยาลัยไปแล้ว ควรจะได้เตรียมตัวให้พร้อมในอันที่จะไปดำเนินงานอาชีพของตนรูปใด เพราะมหาวิทยาลัยก็ได้ประสาทวิชาทุกวิชาให้แล้วประการหนึ่ง เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่า เศรษฐกิจของประเทศไทยเราขึ้นอยู่กับการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ ฉะนั้น ท่านต้องระลึกถึงภาระอันสำคัญยิ่งนี้อยู่เสมอ และช่วยกันฟื้นฟูเกษตรกรรมของประเทศให้เจริญก้าวหน้าไปโดยรวดเร็ว...”

๒๑ เมษายน ๒๕๐๓

          พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิตจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ปีการศึกษา ๒๕๐๒ สรุปดังนี้

          “...ประเพณีทั้งหลายย่อมมีประโยชน์ในการดำเนินชีวิตของแต่ละคน เรามีประเพณีของชาติไทยเป็นสมบัติ เราควรจะยินดีอย่างยิ่ง และช่วยกันส่งเสริมและรักษาไว้เพื่อความเจริญก้าวหน้าของประเทศ...”

๑๕ ธันวาคม ๒๕๐๓

          พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิตและนักศึกษาวิทยาลัยวิชาการศึกษา สรุปดังนี้

          “...ผู้ที่เป็นครูอาจารย์นั้น ใช่ว่าจะมีแต่ความรู้ทางวิชาการ และในทางการสอนเท่านั้นก็หาไม่ จะต้องรู้จักอบรมเด็กทั้งในด้านศีลธรรมจรรยาและวัฒนธรรม รวมทั้งให้มีความสำนึกรับผิดชอบในหน้าที่ และในฐานะที่จะเป็นพลเมืองดีของชาติต่อไปข้างหน้า การให้ความรู้หรือที่เรียกว่าการสอนนั้น ต่างกับการอบรม การสอนคือการให้ความรู้แก่ผู้เรียน ส่วนการอบรมเป็นการฝึกจิตใจของผู้เรียนให้ซึมซาบจนติดเป็นนิสัย ขอให้ท่านทั้งหลายจงอย่าสอนแต่อย่างเดียว ให้อบรมให้ได้รับความรู้ดังกล่าวมาแล้วด้วย...”

๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๔

          พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สรุปดังนี้

          “...การศึกษาเล่าเรียนเป็นเรื่องที่ไม่มีสิ้นสุด ผู้ปรารถนาความเจริญในการประกอบกิจการงาน จะต้องหมั่นเอาใจใส่แสวงหาความรู้ให้เพิ่มพูนอยู่เสมอ มิฉะนั้นจะกลายเป็นผู้ที่ล้าสมัยหย่อนสมรรถภาพไป...”

๑๔ ธันวาคม ๒๕๐๔

          พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิตนักศึกษาวิทยาลัยวิชาการศึกษา สรุปดังนี้

          “...ในโอกาสที่ท่านทั้งหลายได้ออกไปปฏิบัติหน้าที่ครู ซึ่งมีความสำคัญในการสร้างอนาคตของชาติด้านหนึ่ง จึงใคร่ขอฝากขอเตือนใจให้ระลึกไว้ว่า ทุกคนจะต้องบำเพ็ญตนเป็นผู้ที่สนใจในวิชาการโดยไม่หยุดยั้งเพื่อรักษาเกียรติแห่งความเป็นบัณฑิตตลอดไป และในฐานะที่เป็นครูอาจารย์จะต้องตั้งมั่นอยู่ในหลักแห่งศีลธรรม รวมทั้งความสำนึกรับผิดชอบในหน้าที่ให้สมกับเป็นผู้ที่ได้รับความไว้วางใจจากผู้ปกครองของนักเรียน...”

๕ กรกฎาคม ๒๕๐๕

          พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิตจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย สรุปดังนี้

          “...ความรอบคอบเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง บัณฑิตผู้สำเร็จการศึกษาไปแล้วจะทำการสิ่งใดให้พิจารณาให้รอบคอบเสียก่อน อย่าทะนงตัวว่า เราเป็นบัณฑิตแล้ว เราต้องเก่งกว่า ฉลาดกว่าผู้อื่น อย่าลืมว่า ฉลาดแต่อย่างเดียวเท่านั้นไม่พอ ต้องเฉลียวด้วย ต้องทั้งเฉลียวและฉลาด ท่านทั้งหลายคงจะรู้จักนิทานเรื่อง “กระต่ายแข่งกับเต่า” กระต่ายมีฝีเท้าดีทะนงตนว่าไม่มีผู้ใดวิ่งเร็วเสมอเหมือน ยิ่งเต่านั้นก็เป็นคนละชั้น แต่ความที่ทะนงตัวว่าตัวเองเก่ง วิ่งไปยังไม่ทันถึงที่หมาย ไปนอนหลับเสียปล่อยให้เต่าซึ่งเดินช้ากว่ามากไปถึงที่หมายได้ก่อน

          นิทานนี้สอนให้รู้ว่า อย่าทะนงตัวว่าวิเศษกว่าผู้อื่น อย่าอวดเก่งเกินไป จะทำการสิ่งใดจงไตร่ตรองให้รอบคอบ ถ้าเป็นเรื่องเล็ก โทษของความไม่รอบคอบก็น้อย แต่ถ้าเป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องของชาติบ้านเมือง ก็จะเป็นผลเสียหายแก่ชาติบ้านเมืองได้ ฉะนั้น จะกระทำสิ่งใด จงใช้สมองไตร่ตรองดูให้รอบคอบเสียก่อน...”

๒๕ ตุลาคม ๒๕๐๕

          พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สรุปดังนี้

          “...ความรู้กับดวงประทีปเปรียบกันได้หลายทาง ดวงระทีปเป็นไฟที่ส่องแสงเพื่อนำทางไป ถ้าใช้ไฟนี้ส่องในทางที่ถูก ก็จะไปถึงจุดหมายปลายทางได้โดยสะดวกเรียบร้อย แต่ถ้าไม่ระวังไฟนั้นอาจเผาพลาญให้บ้านช่องพินาศลงได้ ความรู้เป็นแสงสว่างที่จะนำเราไปสู่ความเจริญ ถ้าไม่ระมัดระวังในการใช้ความรู้ ก็จะเป็นอันตรายเช่นเดียวกัน จะทำลายเผาผลาญบ้านเมืองให้ล่มจมได้...”

๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๐๕

          พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ในพิธีเปิดการแข่งขันกรีฑาประจำปี ๒๕๐๕ ณ กรีฑาสถานแห่งชาติ กรมพลศึกษา สรุปดังนี้

          “...การกีฬานั้นสำคัญมาก นอกจากจะทำให้นักเรียนและประชาชนมีกำลังกายและอนามัยดีแล้ว ยังช่วยฝึกจิตใจให้รู้จักหน้าที่ มีความสามัคคี ในหมู่คณะ ทั้งฝึกให้เกิดความกล้าหาญ อดทน รู้แพ้รู้ชนะ ชาติไทยเป็นชาตินักรบมาแต่โบราณกาล ได้ชื่อว่าเป็นผู้กล้าหาญยืนหยัดต่อสู่อุปสรรคทุกอย่างโดยไม่ยอมถอยหลัง ทั้งมีความเมตตากรุณาเห็นอกเห็นใจผู้แพ้ มีจิตใจเป็นนักกีฬาโดยแท้จริง เราทั้งหลายผู้สืบสายมาแต่บรรพบุรุษ จึงสมควรพยายามฝึกฝนตนเองให้มีความเข้มแข็ง ถึงพร้อมด้วยความเป็นนักกีฬา ให้สมกับที่มีเลือดเป็นนักรบ และสามารถรักษาความเป็นไทยของประเทศชาติ...”

๑๓ ธันวาคม ๒๕๐๕

          พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิตนักศึกษาวิทยาลัยวิชาการศึกษา สรุปดังนี้

          “...การศึกษาเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญยิ่งของมนุษย์ คนเราเมื่อเกิดมาก็ได้รับการสั่งสอนจากบิดามารดา อันเป็นความรู้เบื้องต้น เมื่อเจริญเติบโตขึ้นก็เป็นหน้าที่ของครูและอาจารย์สั่งสอนให้ได้รับวิชาความรู้สูงและอบรมจิตใจให้ถึงพร้อมด้วยคุณธรรม เพื่อจะได้เป็นพลเมืองดีของชาติสืบต่อไป งานของครูจึงเป็นงานที่สำคัญยิ่ง...”

๒๐ สิงหาคม ๒๕๐๗

          พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สรุปดังนี้

          “...ความรู้นั้นเปรียบเหมือนสาตราวุธ ย่อมจะเป็นคุณหรือเป็นโทษได้เท่ากัน สำคัญอยู่ที่ใช้ คือถ้าใช้ถูกทาง ก็ป้องกันอันตรายได้ ถ้าใช้ไม่ถูกทาง ก็จะกลับเป็นอันตรายประหารตัวเองและแม้ผู้อื่นด้วย...”

๒ ธันวาคม ๒๕๐๗

          พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของวิทยาลัยวิชาการศึกษา ณ วิทยาลัยการศึกษา ถนนประสานมิตร สรุปดังนี้

          “...ท่านทั้งหลาย ผู้ได้รับปริญญาทางการศึกษาแล้วในวันนี้ ต่อไปจะต้องมีหน้าที่รับผิดชอบอย่างยิ่งต่อประเทศชาติ เพราะท่านจะออกไปเป็นผู้ให้การศึกษาอบรมเยาวชนผู้จะเติบโตขึ้นมาเป็นเจ้าของปกครองประเทศในอนาคต และการศึกษาขั้นพื้นฐานของเยาวชนในปัจจุบันมีความจำเป็นเพื่ออนาคตของชาติมาก เพราะฉะนั้น เมื่อท่านเห็นความสำคัญของการเป็นครู และเมื่อท่านได้เลือกหน้าที่ของท่านเช่นนี้แล้ว ท่านต้องพยายามทำหน้าที่ให้สมบูรณ์ด้วยความตั้งใจจริง โดยมุ่งถึงประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติเป็นที่ตั้ง...”

๒๗ ตุลาคม ๒๕๐๘

          พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สรุปดังนี้

          “...ปีนี้ มีผู้สำเร็จการศึกษาเป็นบัณฑิต มากยิ่งกว่าทุกๆ ปี หมายความว่าได้ผู้ที่มีความรู้และมีสติปัญญาสูง มาเป็นกำลังทะนุบำรุงบ้านเมืองเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย ทุกวันนี้ เรากำลังมีภาระที่สำคัญ และจำเป็นต้องเร่งกระทำอยู่อย่างหนึ่ง คือการพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้าขึ้นทุกๆ ด้าน ภาระนี้เป็นภาระหนัก ต้องอาศัยปัจจัยประกอบกันหลายอย่าง เช่น ความสงบสุขของบ้านเมือง กำลังทรัพย์ กำลังคน โดยเฉพาะผู้มีความรู้ความสามารถในการงาน และผู้บัญชางานที่ดีด้วย บัณฑิตทั้งหลายเป็นผู้มีความรู้สูง ย่อมเหมาะที่จะเป็นหัวหน้าผู้บัญชางานต่อไป ขอให้ท่านตั้งใจใช้ความรู้ให้เป็นประโยชน์ในการพัฒนาบ้านเมือง และทำตัวเป็นผู้นำและเป็นตัวอย่างที่ดีในการทำงาน...”

๒ ธันวาคม ๒๕๐๘

          พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิตและนักศึกษาวิทยาลัยวิชาการศึกษา ณ วิทยาลัยการศึกษา ถนนประสานมิตร สรุปดังนี้

          “...ข้าพเจ้าขอแสดงความยินดี กับนิสิตและนักศึกษาทุกคน ผู้ได้รับความสำเร็จและได้รับเกียรติในวันนี้ ต่อไป ท่านทั้งหลายคงจะต้องเข้ารับหน้าที่ให้การศึกษาแก่เยาวชนของชาติตามแนวทางที่ได้รับอบรมมา ขอท่านได้พิจารณาให้เห็นโดยถ่องแท้ว่า ประเทศชาติของเราจะเจริญหรือเสื่อมลงนั้นย่อมขึ้นอยู่กับการศึกษาของประชาชนแต่ละคนเป็นสำคัญ ผลการศึกษาอบรมในวันนี้ จะเป็นเครื่องกำหนดอนาคตของชาติในวันข้างหน้าท่านทั้งหลายจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงในเรื่องนี้ เพราะฉะนั้น เมื่อท่านออกไปเป็นครู ท่านต้องพยายามทำหน้าที่ของท่าน ให้สำเร็จโดยสมบูรณ์ ด้วยความตั้งใจจริง ให้สมกับที่มีหน้าที่อันสำคัญ และให้สมกับคำปฏิญาณที่ให้ไว้แก่ที่ประชุมนี้...”

๑๙ ธันวาคม ๒๕๑๑

          พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของวิทยาลัยวิชาการศึกษา ณ วิทยาลัยการศึกษา ถนนประสานมิตร สรุปดังนี้

          “...จิตใจของครูแต่ก่อนนั้นมากด้วยเมตตา ความเมตตาทำให้ครูเห็นแก่ศิษย์ยิ่งกว่าเห็นแก่ตัว จึงมุ่งที่จะสั่งสอนและอบรมศิษย์ให้มีทั้งความดีและความรู้ สามารถเสียสละความสุข ความสะดวกสบาย และแม้ความสนุกความคะนองได้เพื่อประโยชน์ของศิษย์ ครูของไทยจึงผูกมัดใจศิษย์ให้เคารพรักใคร่ได้มั่นคง...”

๑๖ มกราคม ๒๕๑๒

          พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ประกาศนียบัตร และอนุปริญญาบัตร แก่ผู้สำเร็จการศึกษาสาขาวิชาและวิชาต่างๆ ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สรุปดังนี้

          “...งานของท่านในอนาคต คืองานสร้างความเจริญมั่นคงของประเทศ เป็นงานใหญ่ซึ่งผูกพันท่าน ให้ต้องร่วมกันกระทำอยู่ตลอดชีวิตงานนี้จะกระทำสำเร็จได้ก็โดยที่ทุกคนเข้าใจซาบซึ้งถึงคุณของชาติบ้านเมืองและทำงานทุกอย่างด้วยสติสำนึกถึงหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติเพื่อส่วนรวม

          ในโอกาสนี้ จึงใคร่จักเตือนบัณฑิตใหม่ให้เข้าใจในเรื่องชาติบ้านเมืองว่า ทุกคนมีชาติบ้านเมืองเป็นที่เกิดที่อาศัย ทุกคนจะมีความสุขความเจริญได้ก็เพราะบ้านเมืองเป็นปรกติมั่นคง ผู้ที่ทำงานให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวมย่อมได้รับประโยชน์เป็นส่วนของตนด้วย ผู้ที่ทำงานโดยเห็นแก่ตัว เบียดเบียนประโยชน์ส่วนรวม ย่อมบันทอนทำลายความมั่นคงของประเทศชาติ และที่สุดตนเองก็จะเอาตัวไม่รอด ขอให้ทุกคนเตรียมกาย เตรียมใจทำงานเพื่ออนาคตของชาติไทยของเราต่อไป...”

๓ กรกฎาคม ๒๕๑๒

          พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย สรุปดังนี้

          “...การทำงานยากลำบากกว่าการเรียน การเรียนนั้นเรียนตามหลักสูตร หรือเรียนวิชาต่าง ๆ ตามที่ทางมหาวิทยาลัยจัดลำดับให้ แต่การทำงานไม่มีหลักสูตรวางไว้ จำจะต้องใช้ความริเริ่มและความคิดพิจารณาด้วยตนเอง ในอันที่จะทำสิ่งใด อย่างไร เมื่อใด หากไม่รู้จักพิจารณาใช้ให้ถูกช่องถูกโอกาส ถึงมีวิชาอยู่ ก็ไม่เป็นผลแก่งานและแก่ตัวนัก...”

๕ ธันวาคม ๒๕๑๒

          พระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ในโอกาสที่โต๊ะครูและนักเรียนจากภาคใต้ เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ ศาลาผกาภิรมย์ สรุปดังนี้

          “...ขอให้กล้าแสดงความคิดเห็นในเรื่องต่าง ๆ และกล้าซักถามในสิ่งที่ข้องใจสงสัย โดยถือว่าความรู้ความเข้าใจที่กระจ่างและถูกต้องนั้น จะช่วยให้ปฏิบัติงานได้โดยสะดวกใจและได้ผลสมบูรณ์ที่สุด...”

๗ พฤษภาคม ๒๕๑๓

          พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ พระราชทานแก่คณะที่ปรึกษาเยาวชนและเยาวชนดีเด่น ซึ่งเดินทางมารับการอบรม ณ ศูนย์ฝึกอบรมเยาวชนวัยฉกรรจ์ บ้านบางพูน จังหวัดปทุมธานี ณ ศาลาผกาภิรมย์ สรุปดังนี้

          “...การพัฒนานี้ต้องมีความเข้าใจให้แน่ชัดเสียก่อน เพราะว่าสมัยนี้พูดกันถึงการจะพัฒนาประเทศ จะพัฒนาโน่นพัฒนานี่กันมาก คำว่า “พัฒนา” ก็หมายถึงทำให้มั่นคง ทำให้ก้าวหน้า การพัฒนาประเทศก็ทำให้บ้านเมืองมั่นคงมีความเจริญ ความหมายของการพัฒนาประเทศนี้ก็เท่ากับตั้งใจที่จะทำให้ชีวิตของแต่ละคนมีความปลอดภัย มีความเจริญ มีความสุข ฉะนั้นจึงเข้าใจได้ว่า การพัฒนาทุกอย่างเป็นสิ่งที่ดี เพราะว่าจะนำมาซึ่งความสุขความเจริญและความพอใจของแต่ละบุคคลในประเทศ การพัฒนาคำเดียวนี้ก็กินความหมายมากมายดังที่ว่านี้ จึงต้องประกอบด้วยปัจจัยหลายอย่างที่จะให้สำเร็จผลตามที่ต้องการ ความมั่นคงและความสงบสุขของส่วนรวมเป็นอันที่หนึ่งสำหรับการพัฒนาวิชาการในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกสิกรรม จะเป็นอุตสาหกรรมหรืออื่น ๆ เป็นปัจจัยที่สอง ปัจจัยที่สาม ที่สำคัญที่สุดก็คือความเข้าใจซึ่งกันและกันระหว่างผู้ที่จะพัฒนาและผู้ที่อยู่ในกลุ่มชน จะเป็นหมู่บ้าน จะเป็นตำบล หรือจะเป็นอำเภอ เป็นจังหวัด และประเทศ ต้องมีความสามัคคีกลมเกลียวไม่ขัดซึ่งกันและกัน จึงจะพัฒนาได้ ผลของการพัฒนานั้นได้แก่ประเทศ และเมื่อได้แก่ประเทศก็ย่อมได้แก่จังหวัด ได้แก่อำเภอ ได้แก่ตำบล ได้แก่หมู่บ้าน ได้แก่ครอบครัว และได้แก่แต่ละคนด้วย มองได้ว่าการพัฒนานี้เป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับชีวิตของแต่ละคน และทำได้ลำบากมากเพราะกว้างขวาง จึงต้องทำความเข้าใจให้ดีเสียก่อน...”

๘ พฤษภาคม ๒๕๑๓

          พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ พระราชทานแก่คณะครูโรงเรียนราษฎร์ทั่วราชอาณาจักร ณ ศาลาผกาภิรมย์ สรุปดังนี้

          “...ครูจะต้องตั้งตัวในความดีอยู่ตลอดเวลา แม้จะเหน็ดเหนื่อยเท่าไรก็จะต้องอดทนเพื่อพิสูจน์ว่าครูนี้เป็นที่เคารพสักการะได้ ดังที่โบราณว่าจะต้องเคารพครูต่อจากบิดามารดา ครูนี้เป็นบุคคลที่ต้องบูชา แต่ว่าถ้าครูไม่ตั้งตัวในศีลธรรม ถ้าครูไม่ทำตัวเป็นผู้ใหญ่ เด็กจะเคารพได้อย่างไร...”

๘ กรกฎาคม ๒๕๑๓

          พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ พระราชทานแก่คณะกรรมการบริหารทุนพระราชทาน โรงเรียนราชวินิต และนักเรียนที่เรียนดีเยี่ยมของโรงเรียน
ราชวินิต ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน สรุปดังนี้

          “...ความรู้เป็นสิ่งที่มีคุณค่ามาก ซึ่งต่อไปจะเห็นว่า ถ้าเรียนดี มีความรู้ดี จะสามารถที่จะก้าวหน้าในชีวิตได้ เวลานี้ยังเป็นเด็กอยู่ก็ต้องค่อยๆ เรียนเพิ่มความรู้ไปเรื่อย ถ้าค่อยๆ เรียนไปด้วยความเข็มแข็งขะมักเขม้นเป็นลำดับไป การเรียนต่อไปก็จะไม่ยาก ฉะนั้น ขอให้ทุกคนได้เรียนด้วยควมตั้งใจ ด้วยความขยัน จะเป็นประโยชน์แก่ตัวเองอย่างมาก จะเป็นที่น่ายินดีของบิดามารดาผู้ปกครอง เป็นประโยชน์สำหรับบ้านเมืองทั้งเป็นความภูมิใจของครูที่สอนด้วย ขอให้กระทำด้วยจิตมั่น...”

๑๐ กรกฎาคม ๒๕๑๓

          พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ณ หอประชุมจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย สรุปดังนี้

          “...ความเจริญของประเทศชาติเป็นความเจริญส่วนรวม ซึ่งเกิดจากผลงานหรือผลของการกระทำของคนทั้งชาติ ถือได้ว่า ทุกคนแบ่งหน้าที่กันทำประโยชน์ให้แก่ชาติ ตามความถนัดและความสามารถ และต่างคนต่างก็ได้เกื้อกูลและกัน ไม่มีผู้ใดจะอยู่ได้และทำงานให้แก่ประเทศชาติได้โดยลำพังตนเอง...”

๑๖ กรกฎาคม ๒๕๑๓

          พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สรุปดังนี้

          “...งานพัฒนาบ้านเมืองนั้น ต้องอาศัยบุคคลสองประเภท คือ นักวิชาการกับผู้ปฏิบัติ นักวิชาการเป็นผู้วางโครงการ เป็นผู้นำ เป็นผู้ชี้ทาง เป็นที่ปรึกษาของผู้ปฏิบัติ ส่วนผู้ปฏิบัตินั้นเป็นผู้ลงมือลงแรงกระทำงาน งานจะได้ผลหรือไม่เพียงไร ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลสองฝ่ายนี้ ถ้ามีความเข้าใจและร่วมงานกัน ก็ไม่มีอุปสรรค ได้ผลงานเต็มเม็ดเต็มหน่วยแต่ถ้าหากไม่เข้าใจกัน ก็เกิดอุปสรรคล่าช้า ซึ่งมักปรากฎอยู่เสมอ และจำเป็นจะต้องแก้ไข...”

๑๒ ตุลาคม ๒๕๑๓

          พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรและอนุปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยศิลปากร ณ ท้องพระโรง วังท่าพระ สรุปดังนี้

          “...งานด้านการศึกษา ศิลปและวัฒนธรรมนั้น คืองานสร้างสรรค์ความเจริญทางปัญญาและทางจิตใจ ซึ่งเป็นทั้งต้นเหตุทั้งองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้ ของความเจริญด้านอื่น ๆ ทั้งหมด และเป็นปัจจัยที่จะช่วยให้เรารักษาและดำรงความเป็นไทยไว้ได้สืบไป...”

๔ ธันวาคม ๒๕๑๓

          พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ พระราชทานแก่คณะผู้แทนองค์การศาสนา คณะครูและนักเรียน ณ ศาลาผกาภิรมย์ สรุปดังนี้

          “...ถ้าจะสั่งสอนเยาวชน เราจะต้องวิเคราะห์ศัพท์เสียก่อนว่าเยาวชนคืออะไร ผู้ที่ทำงานในด้านปทานุกรมหรือสารานุกรมก็ตามก็ต้องบอกว่า เยาวชนคือผู้เยาว์ อันนี้ก็ไม่ได้แก้ปัญหาอะไร เพราะว่าเยาวชนกับผู้เยาว์คำเดียวกัน ผู้เยาว์คือใคร ถ้ามาวิเคราะห์ศัพท์ต่อไป ผู้เยาว์ก็คือผู้ที่มีอายุน้อย มันก็กลับมาอย่างเดิม อายุน้อยคืออะไร ก็ต้องบอกว่าอายุน้อยคือคนที่เกิดมาแล้วนับปียังไม่มากเท่ากับผู้ที่เกิดมาแล้วนับปีได้มากกว่าอันนี้ก็เป็นวิธีที่จะวิเคราะห์ศัพท์อย่างหนึ่งว่า เยาวชนคือผู้ที่รวมอายุหรือนับปีตั้งแต่เกิดมาได้น้อย ทีนี้คำว่าน้อยว่ามากนี้ แค่ไหนจะเป็นมากหรือน้อย ถ้าเกิดมา ๒ ปี ก็นับได้ว่าน้อย เพราะว่าในทุกชาติทุกภาษาเขานับได้ว่า ๑ - ๒ บางชาติบอกว่า ๓ แต่บางชาติ ๓ นั้นน่ะหลายแล้ว เมื่อบางชาติเขาบอกว่าหลาย คือเขานับ ๑ - ๒ ต่อไปนั้นเขาไม่นับ เขานับไม่ได้ ก็หมายความว่าอายุ ๓ ขวบไม่ใช่ผู้เยาว์แล้ว แต่ว่าอย่างของเรา เรามีนับ ๑ - ๒ - ๓ จนกระทั่ง ร้อย พัน หมื่น แสน ล้าน โกฏิ อสงไขย ต่อไปก็ยังมีอีกมาก ถ้าเป็นนักวิทยาศาสตร์ก็ใช้เครื่องหมาย จนกระทั่งเราก็ไม่ทราบว่าถึงไหน ก็กลายเป็นไม่มีสิ้นสุด โดยมากเขาก็นับว่าอายุถึง ๑๘ แล้ว หรือ ๒๐ แล้วก็เป็นผู้ใหญ่ แต่ว่าเวลาพูดถึงเยาวชนก็ยังพูดถึงคนที่อยู่ในวัยศึกษา วัยศึกษาสำหรับธรรมดา อายุประมาณ ๑๘ ก็จบโรงเรียนมัธยมหรือเตรียมอุดม เข้าอุดมศึกษา ถ้านับ ๑๘ หรือ ๒๐ เป็นเกณฑ์ว่าเป็นผู้ใหญ่เป็นเด็กกันปัญหาก็ไปอีกทางหนึ่ง แต่โดยมากที่พูดกันโดย คลุมเครือว่าเยาวชน ก็นับไปถึงผู้ที่ศึกษาในมหาวิทยาลัย ก็เป็นเยาวชนกันไปถึง ๒๕ ถ้าวิเคราะห์ศัพท์เช่นนี้ เมื่ออายุถึง ๒๕ แล้วก็เป็นผู้ใหญ่ ก่อนอายุ ๒๕ ก็เป็นเด็ก ก็เป็นวิธีที่วิเคราะห์ศัพท์อย่างหนึ่ง โดยมากก็นับอย่างนี้ แต่เราก็ดูได้ว่ามีบางบุคคล อายุ ๒๐ ทำงานทำการได้เป็นผู้ใหญ่หมายถึงว่ามีความรับผิดชอบ มีความรู้ มีความสามารถดี ก็เหมือนผู้ใหญ่แต่มีบางคนอายุ ๖๕ แล้ว ผ่านอายุมามากแล้ว บางทีก็เคยผ่านหน้าที่งานการมาแล้ว แต่ก็ยังไม่เป็นผู้ใหญ่ ทำไมเป็นเช่นนี้ เชื่อว่าการจะวิเคราะห์ศัพท์หรือจะตั้งเกณฑ์ของความเป็นผู้ใหญ่ความเป็นเด็กก็ต้องเอาอยู่ที่ หนึ่งความรู้ คือความรู้ในวิชาการอย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งความรู้ในทางโลกคือประสบการณ์ในสิ่งที่ไม่ใช่ที่เรียนมาในโรงเรียน หรือที่ทำในหน้าที่การงานในทางราชการหรือในทางบริษัทห้างร้านหรือในอาชีพ หมายถึงว่าความรู้ในชีวิตธรรมดาๆ แล้วอีกอย่างหนึ่งคือความรู้ในสิ่งที่เรียกกันว่าธรรมะ คือความรู้ในกลไกชีวิตของคน กลไกของความคิดของคน วิธีคิด และทำไมเราเป็นคน ทางร่างกาย เวลาอากาศร้อนทำไมเหงื่อแตก หรือทางจิตใจ เวลามีความพอใจทำไมจึงยิ้มหรือหัวเราะ เวลามีสิ่งที่กระทบกระเทือนจิตใจในทางที่ว่าเป็นทุกข์ก็เป็นทุกข์ ทั้งหมดนี้เป็นความรู้ ๓ อย่าง แต่ความรู้ที่สำคัญที่สุดก็คือความรู้ข้อสุดท้าย คือความรู้ในธรรมะ จึงเป็นเกณฑ์ว่าคนไหนที่มีความรู้ในธรรมะ มีเหตุผลโดยธรรมะ ธรรมะจะนำให้ไปประสบแต่ความดี ความดีนี้ไม่ใช่จะให้ทุกคนเป็นเทวดา เพราะเทวดาก็มีดีมีเลว แต่ว่าจะให้เป็นพระเจ้า ที่เรียกว่าพระเจ้านี้ในทุกศาสนาก็เรียกได้ว่ามีพระเจ้าหมายถึงว่าสิ่งที่ดีที่งามนี้เอง ทุกคนต้องการความดี ความก้าวหน้า ความสุข คนที่สามารถหาความสุขได้ก็คือความสุขที่ดี ที่ชอบ ที่ถูกต้องตามหลัก ถูกต้องตามธรรมะ ธรรมะนี่ ไม่ได้พูดถึงธรรมะในทางศาสนาหนึ่งศาสนาใดเลย ธรรมะคือหลักที่จะปฏิบัติเพื่อให้ได้ความดีถึงความดีงามที่แท้จริง ผู้ที่มีความรู้ในทางนี้มากก็นับว่าเป็นผู้ใหญ่ ผู้ที่มีความดีทางนี้น้อยก็นับว่าเป็นเด็ก...”

๖ มีนาคม ๒๕๑๔

          พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ พระราชทานในโอกาสเสด็จฯ ไปทรงดนตรีที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สรุปดังนี้

          “...คำว่า “ปัญญา” มาจากคำอะไรและเป็นส่วนประกอบของอะไรก็ต้องพูดอีกนิดหน่อยว่า ปัญญาคือความรอบรู้ส่วนหนึ่ง แล้วก็ปัญญาก็คือพลังอย่างหนึ่งที่อาศัยความรอบรู้นั้น มาทำให้แก้ปัญหาได้ แล้วปัญญาอีกอย่างหนึ่งก็คือความเฉลียวฉลาดของบุคคล ถ้าดูตามความหมายเหล่านี้ก็หมายความว่าปัญญาชนก็เป็นคนที่มีความรอบรู้ และมีความเฉลียวฉลาดสามารถที่จะนำความรอบรู้นี้มาปฏิบัติการ...”

๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๑๔

          พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ เนื่องในโอกาสเสด็จ ฯ ไปทรงดนตรีเป็นการส่วนพระองค์ ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สรุปดังนี้

          “...คณาจารย์ทั้งหลายย่อมต้องการมีความเมตตาต่อลูกศิษย์ ย่อมต้องการให้ลูกศิษย์ได้ดี ต้องการให้ลูกศิษย์ได้มีความสามารถที่จะมาทำหน้าที่ มาทำประโยชน์ต่อส่วนรวม ไม่อย่างนั้นอาจารย์ต่าง ๆ ทั้งหลายคงลาออกไปหมดแล้ว ที่อาจารย์ทั้งหลายไม่ลาออก ไม่ใช่เพราะว่าอาชีพครูมีเงินมีทองดี ตรงข้ามมาเป็นครูสตุ้งสตางค์ก็ไม่ค่อยมี แต่ว่าเพราะอยากที่จะให้ความรู้ความสามารถแก่ลูกศิษย์และเห็นแก่บ้านเมืองเห็นแก่ส่วนรวมที่ว่าต้องการมีความจำเป็นที่จะต้องมีคนที่มีความรู้จึงไม่ทิ้งหน้าที่...”

๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๕

          พระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ในโอกาสที่นายบุญถิ่น อัตถากร ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นำครู และนักเรียนโรงเรียนราษฎร์สอนศาสนาอิสลามจากภาคใต้ เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา สรุปดังนี้

          “...ผู้ที่เป็นครูจะต้องถือเป็นหน้าที่อันดับแรก ที่จะต้องให้การศึกษาคือสั่งสอนอบรมอนุชน ให้ได้ผลแท้จริงทั้งในด้านวิชาความรู้ทั้งในด้านจิตใจและความประพฤติ ทั้งต้องคิดว่างานที่แต่ละคนกำลังทำอยู่นี้ คือความเป็นความตายของประเทศ เพราะอนุชนที่มีความรู้มีความดีเท่านั้น ที่จะรักษาชาติบ้านเมืองไว้ได้...”

๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๑๕

          พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ในพิธีพะราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิตและนักศึกษาวิทยาลัยวิชาการศึกษา ณ วิทยาลัยวิชาการศึกษา ประสานมิตร สรุปดังนี้

          “...การให้การศึกษานั้น กล่าวโดยวัตถุประสงค์ที่แท้จริง คือการสร้างสรรค์ความรู้ ความคิด พร้อมทั้งคุณสมบัติและจิตใจที่สมบูรณ์ ให้เกิดขึ้นในตัวบุคคล เพื่อช่วยให้เขาสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมั่นคงและราบรื่น ทั้งสามารถบำเพ็ญประโยชน์สุขเพื่อตนเพื่อส่วนรวมได้ตามควรแก่อัตภาพ ผู้ทำหน้าที่ด้านการศึกษาทุกฝ่ายทุกระดับควรจะได้มุ่งทำงานเพื่อวัตถุประสงค์นี้ยิ่งกว่าสิ่งอื่น...”

๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๑๕

          พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิตและนักศึกษาวิทยาลัยวิชาการศึกษา ณ วิทยาลัยวิชาการศึกษา ประสานมิตร สรุปดังนี้

          “...เยาวชนทุกคนมิได้ต้องการทำตัวให้ตกต่ำ หรือให้เป็นปัญหาแก่สังคมประการใด แท้จริงต้อการจะเป็นคนดีมีความสำเร็จ มีฐานะ มีเกียรติ และอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างราบรื่น แต่การที่จะบรรลุถึงความประสงค์นั้นจำเป็นต้องอาศัยผู้แนะนำควบคุมให้ดำเนินไปโดยถูกต้อง...”

๑ ตุลาคม ๒๕๑๖

          พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ สำหรับพระราชทานลงพิมพ์ในหนังสือ “วันเด็ก” ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน สรุปดังนี้

          ในวัยเด็ก คนมีความว่องไวทางสมองสูง สามารถรับทราบและจดจำได้รวดเร็ว ถ้าพยายามเล่าเรียนวิชาความรู้ พยายามสังเกตพิจารณาสิ่งต่าง ๆ พยายามฝึกหัดตนให้มีเหตุผล มีระเบียบมีความดี ก็จะติดเป็นนิสัย และสามารถนำออกมาใช้ได้โดยถูกต้อง ช่วยให้เกิดความสุข ความสำเร็จ และความรุ่งเรืองแก่ตนได้อย่างแน่นอนในวันข้างหน้า

๒๗ ตุลาคม ๒๕๑๖

          กระแสพระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ พระราชทานแก่นักเรียน นักศึกษา ครู และอาจารย์ ในโอกาสเข้าเฝ้า ฯ ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร สรุปดังนี้

          “...แต่ละคนที่มาในวันนี้ก็เป็นผู้ที่กำลังศึกษาวิชาความรู้ในด้านต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในวันข้างหน้าเพื่อสร้างตน สร้างบ้านเมืองให้มีความเจริญ ให้สามารถที่จะใช้วิชาความรู้ให้เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมและแก่ส่วนตัว ถ้าแต่ละคนพากเพียรที่จะศึกษาในวิชาการ จะเป็นวิชาการใดก็ตามอย่างเคร่งครัดและอย่างขะมักเขม้น ก็จะแก้ปัญหาในการสร้างบ้านเมืองได้อย่างยิ่ง เพราะเหตุว่าถ้าขาดวิชาความรู้ก็เท่ากับไม่สามารถที่จะใช้กำลังของตนเพื่อให้เป็นประโยชน์ได้เต็มที่ เมื่อมีโอกาสเรียน ก็จะทำให้สร้างเสริมตนเองให้มีความสามารถสูง ทำให้มีทางที่จะช่วยส่วนรวมมากขึ้น...”

๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๑๖

          พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิตและนักศึกษาวิทยาลัยวิชาการศึกษา ณ วิทยาลัยวิชาการศึกษา ประสานมิตร สรุปดังนี้

          “...ผู้ให้การศึกษาระดับใด สาขาใดก็ตาม รวมทั้งผู้บริหารการศึกษาด้วย ต้องปฏิบัติงานด้วยความเข้าใจกัน มีความสัมพันธ์ร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดและกว้างขวาง สนับสนุนส่งเสริมงานของแต่ละสาขา แต่ละระดับขึ้นมาเป็นขั้น เว้นจากความขัดแย้งและเบียดเบียนกันโดยเด็ดขาด ความเจริญทางการศึกษาของชาติที่ทุกคนต้องการ จึงจะมีประสิทธิผลขึ้นมาได้...”

๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๑๖

          พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิตและนักศึกษาวิทยาลัยวิชาการศึกษา ณ วิทยาลัยวิชาการศึกษา พิษณุโลก สรุปดังนี้

          “...การให้การศึกษานั้นคือการแนะนำส่งเสริมบุคคล ให้มีความเจริญงอกงามในการเรียนรู้ การคิดอ่าน การกระทำตามอัตภาพของตนๆ โดยมีจุดมุ่งหมายในที่สุดให้สามารถนำเอาคุณสมบัติทั้งปวงที่มีในตัวออกมาใช้ให้เป็นประโยชน์เกื้อกูลตน เกื้อกูลผู้อื่นได้โดยสอดคล้อง ไม่ขัดแย้งเบียดเบียนกัน เพื่อที่จะได้อยู่ร่วมกันเป็นสังคม เป็นประเทศได้...”

๑ ธันวาคม ๒๕๑๖

          พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ พระราชทานแก่ครูใหญ่โรงเรียนและนักเรียนที่สมควรได้รับพระราชทานรางวัล ตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ประจำปีการศึกษา ๒๕๑๕ และครูและนักเรียนโรงเรียนราษฎร์สอนศาสนาอิสลามภาคใต้ ณ หอประชุมคุรุสภา สรุปดังนี้

          “...ความรู้ทางวิชาการและทางปฏิบัติที่สอนในโรงเรียน เป็นทั้งรากฐานและปัจจัยที่สำคัญยิ่งของคนทุกคน เพราะบุคคลได้อาศัยความรู้เป็นกำลัง ที่จะนำพาตัวให้ก้าวไปสู่ความสำเร็จ ความสุข และความเจริญทั้งปวง และความรู้ดังกล่าวนี้ไม่ขัดกับศาสนา ไม่ว่าศาสนาใด ตรงข้ามกลับสนับสนุนกัน กล่าวคือ ความรู้ช่วยให้เรียนรู้ศาสนาได้โดยกว้างขวางและศาสนาช่วยให้เรียนรู้ความรู้ได้โดยลึกซึ้งและชัดแจ้ง เพราะฉะนั้นทั้งวิชาและศาสนาจึงดำเนินควบคู่กัน เป็นสิ่งสำคัญสำหรับชีวิตด้วยกัน ผู้ใดมีทั้งหลักวิชาทั้งหลักศาสนา ย่อมดำเนินถึงความสำเร็จในชีวิตได้ไม่พลาดพลั้งเพราะสามารถพิจารณาสิ่งต่าง ๆ ได้โดยละเอียดรอบคอบทุกแง่ทุกมุมด้วยเหตุผล การพิจารณาสิ่งต่าง ๆ โดยนัยนี้ ทำให้ทราบและเห็นความจริงของสิ่งนั้น ๆ และปฏิบัติต่อสิ่งนั้น ได้โดยถูกต้องพอเหมาะพอดี จะทำการสิ่งใดก็ย่อมได้ผลที่สมบูรณ์...”

๑๘ กรกฎาคม ๒๕๑๗

          พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สรุปดังนี้

          “...การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐาน คือความพอมี พอกินพอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นเบื้องต้นก่อน โดยใช้วิธีการและใช้อุปกรณ์ที่ประหยัด แต่ถูกต้องตามหลักวิชา เมื่อได้พื้นฐานมั่นคงพร้อมพอควรและปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญและฐานะเศรษฐกิจขั้นที่สูงขึ้นโดยลำดับต่อไป หากมุ่งแต่จะทุ่มเทสร้างความเจริญ ยกเศรษฐกิจขึ้นให้รวดเร็วแต่ประการเดียว โดยไม่ให้แผนปฏิบัติการสัมพันธ์กับสภาวะของประเทศและของประชาชนโดยสอดคล้องด้วย ก็จะเกิดความไม่สมดุลในเรื่องต่าง ๆ ขึ้น ซึ่งอาจกลายเป็นความยุ่งยากล้มเหลวได้ในที่สุด...”

๒๓ กรกฎาคม ๒๕๑๗

          พระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ พระราชทานแก่คณะกรรมการโครงการรายการมหาวิทยาลัยทางอากาศ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน สรุปดังนี้

          “...มีประเด็นสำคัญที่อยากจะพูดถึง คือโครงการใดถ้าทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ อยากให้ได้ผลตามที่มุ่งหวังนั้น ด้วยความตั้งใจแท้ ไม่มีแฝง ย่อมเป็นโครงการที่จะทำงานได้ผลมาก แต่ว่าโครงการมหาวิทยาลัยทางอากาศนี้แฝงง่าย แต่ละคนที่เป็นกรรมการไม่ใช่ว่าจะตำหนิติเตียน แต่แต่ละคนก็เป็นคน อาจนึกถึงว่าเป็นทางที่จะแพร่ความคิดของตน ส่วนตัวของตนไม่ใช่หลักวิชา เป็นความคิดของตนเองเป็นส่วนบุคคล ก็จะพยายามใช้มหาวิทยาลัยทางอากาศเป็นตลาดเป็นที่แพร่ความคิดของตน เพื่อความพอใจของตน ซึ่งข้อนี้ ถ้าความคิดนั้นดีก็ไม่เป็นไร แต่ความจริงคนเรานะไม่ใช่พระอรหันต์ เรามีความรู้สึกอยากที่จะให้คนอื่นมาคิดอย่างเรา ฉะนั้นอาจผิดพลาดขึ้นได้ข้อหนึ่ง

         ข้อที่สอง สำหรับเรื่องอันตรายของการแพร่ความคิด อาจมีความคิดคนอื่นมาในด้านที่เรียกว่า...ไม่อยากเรียกว่าลัทธิ...เพราะว่าถ้าพูดถึงลัทธิแล้ว ก็จะเกิดถามว่าลัทธิคืออะไร แล้วก็เกิดจะต้องมีวิสัชนากันใหญ่...ยาว แต่ก็หมายความว่าจะต้อง...จะเรียกว่าอะไร...แนวความคิดที่จะโน้มใจให้คนคิดถึงเหมือนกันกับลัทธิเหมือนกัน ความคิดนั้นเกิดขึ้น บางทีความคิดหลัก รากฐานของแนวความคิดนั้นถูกต้องแล้วคืออย่างประชาธิปไตย แต่ประชาธิปไตยมีหลายอย่างหลายวิธี แล้วก็มีทางดีทางเสียของลัทธิ ถ้าสมมุติว่าเราพูดออกไป ผู้ฟังไปเข้าใจในทางเสียของลัทธิ ก็แพร่คอนเซปท์เป็นพอลูชั่นไป ฉะนั้นต้องระวังเหมือนกัน แต่ถ้าทำด้วยความบริสุทธิ์ใจแล้วอย่างที่กล่าวข้างต้น อันตรายนี้ก็น้อยลง น้อยมาก และควบคุมได้ก็ในชั้นแรกนี้ ถ้าเผื่อว่าความบริสุทธิ์ใจมีอยู่ร้อยเปอร์เซนต์ ก็นับว่าโครงการนี้ได้ผลแน่นอน ต่อไปเรื่องมหาวิทยาลัยนี้ เราก็รู้ดีว่าในสมัยนี้ มหาวิทยาลัยคืออะไร ไม่ใช่สถานศึกษา เป็นสถานที่ที่จะรวมพลัง เพราะว่าเราเอาอย่าง เราไม่มีความเป็นตนของตนเอง ที่จะนึกว่ามหาวิทยาลัยเป็นแหล่งที่ศึกษา มาถือว่าเป็นที่ที่จะมารวบพบรวมคน เพื่อที่จะแสดงพลังทั้งครูทั้งนักเรียน ถ้ามีมหาวิทยาลัยทางอากาศ จะรวมคนทางอากาศได้อย่างไร แต่ว่าถ้าถือว่ามหาวิทยาลัยเป็นแหล่ง...หรือเป็น...การจัดการอะไรอย่างหนึ่ง สำหรับแพร่ความรู้ ก็เชื่อว่าจะได้เห็น แต่ว่าจะไม่ได้ผลในทางที่ต้องการว่ามหาวิทยาลัยนี้เป็นแหล่งรวมคน มีอิทธิพลหรือพลัง ฉะนั้นในลำดับที่สองนี้ก็คงไม่มีความสำเร็จ

         ในลำดับต่อไป มหาวิทยาลัยหรือการให้ความรู้ทางอากาศนี้จะไม่ได้อย่างหนึ่ง ก็คือความใกล้ชิดระหว่างผู้ที่ให้วิชากับผู้ที่รับวิชา ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญ ซึ่งเป็นสิ่งที่เดี๋ยวนี้ลืม เพราะว่าสมัยใหม่เขาไม่ทำกันแล้ว เดี๋ยวนี้เด็กเดินข้างหน้าผู้ใหญ่ นำหน้าไป ไม่ใช่ผู้ใหญ่นำหน้าเด็ก เพระว่าบอกว่าผู้ใหญ่เดินผิด หรือแม้แต่หลักวิชาก็ไม่นับถือกันแล้ว บอกว่าไม่จำเป็นที่จะเรียนหลักวิชา เป็นสิ่งที่ฟุ่มเฟือย ฉะนั้นมหาวิทยาลัยทางอากาศจะไม่ได้ผลอะไรเลย เพราะว่ามีทางเดียวคือให้แต่หลักวิชา แต่ว่าในสมัยโบราณ ก็ขออภัยที่พูดเพราะว่าแม้แต่พูดนี้ ก็อยากจะพูดว่าตั้งแต่โบราณนี้ เพราะมีเหตุผลว่าผู้ที่อยากมีความรู้จะต้องไปหาอาจารย์ ไม่ใช่อาจารย์ต้องไปหาลูกศิษย์ เดี๋ยวนี้อาจารย์ต้องไปหาลูกศิษย์ ประจบประแจงลูกศิษย์ แต่ก่อนนี้ลูกศิษย์ต้องประจบประแจงอาจารย์ ซึ่งมีเหตุผลเพราะว่าลูกศิษย์ต้องแสดงว่าตนมีความปรารถนา มีกำลังใจ มีความเพียรที่จะหาความรู้ ถึงไปหาอาจารย์ อาจารย์ก็แกล้งต่าง ๆ นานา แต่ว่าลูกศิษย์ก็ยังขอมอบตัวเป็นลูกศิษย์ให้แก่อาจารย์ เมื่ออาจารย์เห็นกระจ่างแล้ว และโดยที่อาจารย์เป็นอาจารย์คือผู้ประเสริฐ ผู้มีความรู้ และไม่ใช้ความรู้ในทางวิชาเท่านั้นเอง แต่ความรู้ในทางชีวิต รู้จิตวิทยา รู้ว่าเด็กคนนี้หรือผู้นี้ มีความปรารถนาแท้จริงที่จะเรียน จึงรับเป็นลูกศิษย์ แต่เมื่อรับเป็นลูกศิษย์แล้วก็เป็นครูเป็นลูกศิษย์ ทำทุกอย่างให้ลูกศิษย์ได้ก้าวขึ้น ระบบลูกศิษย์อาจารย์แบบนี้โบราณ ขอถือว่าเป็นโบราณไม่ได้ถอยหลังเข้าคลอง เพราะอยู่ในคลองแล้วถือว่าเป็นของเก่า ถือว่าเป็นของผิดตามมาตรฐานหลักสมัยใหม่นี้ เป็นของไม่ดี แต่ว่าอีกหน่อยก็ต้องเป็นยังงี้อีกที เพราะว่าไม่สามารถจะใช้ระบบที่คนที่อยากได้ความรู้หันหลังกับคนรู้ คนที่อยากได้ความรู้ต้องหันหาความรู้ ฉะนั้นมหาวิทยาลัยทางอากาศนี้ จึงแสดงว่าเป็นการที่อาจารย์แสวงหาลูกศิษย์แบบอเมริกัน แบบโฆษณาชวนเชื่อบ้าง หรือโฆษณาทำการค้า ดังนั้นมหาวิทยาลัยทางอากาศนั้น เวลาฟังชื่อแล้ว รู้วิธีการถูกต้อง อาจมีการแข่งขันกัน

         มาข้อที่สี่ ถ้าถือมหาวิทยาลัยทางอากาศนี้เป็นกิจการอย่างหนึ่งแพร่ความรู้ให้แก่ผู้ที่มีความสนใจ เราเรียกมหาวิทยาลัยโก้ๆ แต่ความจริงเป็นบทความเป็นสารคดี เป็นสิ่งที่จะช่วยให้ส่วนรวม ผู้ที่สนใจได้มีความรู้ความสามารถ แต่ว่าสำหรับความรู้นะ ที่จะหาความรู้เพิ่มก็เห็นว่ามหาวิทยาลัยทางอากาศนี้เหมาะสมเป็นสิ่งที่ดี และผู้ที่ปฏิบัติการทั้งหลายก็ย่อมมีความดีที่ตั้งใจแพร่ความรู้ ความเห็นให้แก่ผู้ที่จะสนใจ แต่ว่าไม่ใช่มหาวิทยาลัยเป็นสารคดีชั้นสูง แล้วก็ที่มีคู่มือส่งไปให้ เท่าที่สนับสนุนให้มีคู่มือก็เป็นสิ่งที่ดี เพราะว่าเท่ากับให้ผู้ที่สนใจเริ่มที่จะหันหน้ามาหาความรู้ ตอนนี้น่าจะกลายเป็นมหาวิทยาลัยตอนที่ผู้ที่ฟังหันหน้าเข้ามาหาความรู้โดยที่ได้รับการกระตุ้นจากบทที่เป็นสาระ คือ สารคดีที่ออกอากาศไป

         ทั้งหมดนี้ ที่พูดนี้ก็เป็นความคิดที่ได้มาจากที่ท่านประธานได้รายงาน แล้วก็มีข้อคิดแค่นี้ไม่ใช่เป็นแนวทางที่ปฏิบัติใด ๆ เป็นเพียงการสังเกตตามที่ได้เห็นเข้าใจว่ามหาวิทยาลัยเป็นอย่างไร มหาวิทยาลัยทางอากาศที่ได้รายงานให้ทราบเป็นอย่างไร ถ้าพูดผิดพลาดไปประการใดก็ขอให้ชี้ให้ดูแล้วต่อไปก็อาจสามารถที่จะพูดอะไรต่อไปที่เป็นประโยชน์มากกว่านี้...”

๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๑๗

          พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิตนักศึกษา ณ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม สรุปดังนี้

          “...การที่จำเป็นต้องสร้างและเสริมความมั่นคงทั้งประเทศ ก็เพื่อที่จะธำรงรักษาชาติ รักษาแผ่นดิน รักษาจิตใจ พร้อมทั้งความสุขความร่มเย็น ซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายที่แท้จริงของชีวิตไว้ ให้เราทุกคนมีชีวิตอยู่ได้อย่างมีความหมาย มีความสำคัญ มีความเป็นอิสระ และการรู้ซึ้งถึงจุดมุ่งหมายของชีวิตนี้ จะทำให้มีพลัง ทั้งทางใจทางกาย ที่จะทำการงานของตนของชาติให้ลุล่วงได้...”

๑๒ ธันวาคม ๒๕๑๗

          พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ พระราชทานเพื่อเชิญลงพิมพ์ในหนังสือ “วันเด็ก” พ.ศ. ๒๕๑๗ สรุปดังนี้

          “...เด็กควรขวนขวายหาวิชา พร้อมทั้งฝึกความเป็นระเบียบ รู้เหตุรู้ผลให้แก่ตัว เพราะวิชาและความเป็นระเบียบนั้นจะช่วยให้คิดถูก ทำถูก พูดถูก จะทำให้เป็นคนมีอิสรภาพแท้อย่างเต็มเปี่ยม ในวันข้างหน้า...”

๑๓ มิถุนายน ๒๕๑๘

          พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ พระราชทานแก่ครูใหญ่และนักเรียน โรงเรียนที่สมควรได้รับพระราชทานรางวัลตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ประจำปี ๒๕๑๖ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน สรุปดังนี้

          “...ปัจจัยสำคัญที่สุดประการหนึ่ง ทั้งของชีวิตและส่วนรวม คือการศึกษา ซึ่งเป็นรากฐานส่งเสริมความเจริญความมั่นคงเกือบทุกอย่างในบุคคลและประเทศชาติ ผู้มีหน้าที่จัดการศึกษาของอนุชนทุกระดับ จึงควรได้ทราบตระหนักในความสำคัญของงานที่ตนทำ ทั้งต้องพยายามปฏิบัติให้ได้ผลสมบูรณ์เต็มตามความมมุ่งหมาย เจตนาของการศึกษานั้น. กล่าวโดยสรุป ก็คือการวางราฐานที่ดีที่ถูกต้องในตัวบุคคล ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และความรู้ทั้งปวง สำคัญที่สุด คือรากฐานดานความรู้จักผิดชอบชั่วดี รู้จักคิดตัดสินใจตามทางที่ถูก ที่เป็นธรรม ที่สร้างสรรค์ ผู้จัดการศึกษาต้องดำเนินงานให้ได้ประโยชน์พร้อมดังนี้ จึงเรียกได้ว่าปฏิบัติการถูกต้องครบถ้วน เป็นนักการศึกษาแท้...”

๒๓ มิถุนายน ๒๕๑๙

          พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประจำปีการศึกษา ๒๕๑๗-๒๕๑๘ ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร สรุปดังนี้

          “...ท่านทั้งหลายควรจะต้องทราบว่า วัตถุประสงค์ของการเข้ามาศึกษาในมหาวิทยาลัยนั้น มิใช่มาศึกษาเพียงเพื่อให้ได้ปริญญาบัตร โดยสำคัญว่าตัวปริญญาบัตรคือตัวความรู้เพราะถ้าสำคัญดังนั้น คงจะไม่ได้รับความรู้แน่นแฟ้นนัก และคงจะต้องประสบกับความลำบากในการงานต่อไป

          ความจริงความรู้ที่ศึกษามา ซึ่งเป็นความรู้ทางทฤษฎี นั้น คือ รากฐานและต้นทุนสำคัญสำหรับที่จะนำไปปฏิบัติงานการ ความรู้ทางทฤษฎีนี้ จำเป็นที่จะต้องทบทวนเสริมสร้างอยู่เสมอและนำมาประกอบการปฏิบัติ เมื่อเอาความรู้ทางทฤษฎีมาประสมประสานปรุงแต่งกับความรู้จากการปฏิบัติ อย่างสอดคล้องเหมาะสมแล้ว งานที่ทำก็จะบรรลุผลที่จะพึงภาคภูมิใจได้สมปรารถนา...”

๒๕ มิถุนายน ๒๕๑๘

          พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประจำปีการศึกษา ๒๕๑๗ - ๒๕๑๘ ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม สรุปดังนี้

          “...หน้าที่ครูมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นหน้าที่ปลูกฝังความรู้ความคิดและจิตใจเยาวชน ผู้เป็นครูจึงจัดได้ว่าเป็นผู้มีบทบาทสำคัญมากในการสร้างสรรค์บันดาลอนาคตของชาติบ้านเมือง ครูทุกคนต้องทราบตระหนักในข้อนี้ และต้องทำหน้าที่ของตัวในทางที่ถูกต้อง ให้ได้ผลสมบูรณ์ที่สุด จะยอมหรือปล่อยตัวให้ย่อหย่อนเพราะเหตุใด ๆ ไม่ได้...”

๙ กรกฎาคม ๒๕๑๙

          พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิตจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ณ หอประชุมจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย สรุปดังนี้

          “...การเรียนรู้วิชาได้ดี ย่อมเป็นผลมาจากการมีที่เรียนดี มีครูดี มีโอกาสเหมาะ และตัวเองตั้งอกตั้งใจเล่าเรียน หรืออาจมีเหตุผลอื่น ๆ มากกว่านี้ออกไปอีกก็ได้ เหตุทั้งหลายนี้ จำแนกออกได้เป็นสองประเภท คือเหตุต่าง ๆ ที่อยู่นอกตัว เช่น ที่เรียนดี ครูดี จัดเป็นเหตุภายนอก ประเภทหนึ่ง กับเหตุที่อยู่ในตัว ที่เป็นการกระทำของตัว อันได้แก่การตั้งใจเล่าเรียนจริง ๆ นั้น จัดเป็นเหตุภายใน อีกประการหนึ่ง ขอให้พิจารณาทบทวนดูให้ดีจะเห็นว่า เหตุภายนอกทั้งหมดนั้นเป้นเพียงส่วนประกอบ เหตุแท้จริง ที่จำทำให้รู้วิชาดีนั้นอยู่ที่เหตุภายใน คือการกระทำของตัวเอง...”

๒๖ สิงหาคม ๒๕๑๙

          พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ในพิธีพระราชทานแก่นักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา สรุปดังนี้

          “...ศิลปวิทยานี้คือความรู้ในวิชาการ ความรู้ในวิชาการนี้แบ่งเป็น หลายชนิดด้วยกัน และต้องใช้กันทั้งนั้น สำหรับให้สังคมและประเทศมีความ เจริญรุ่งเรือง คือประเทศเรามีอยู่ ตั้งอยู่ และสังคมก็คือทุกคนที่อยู่ ณ ที่นี้ ทุกคนที่อาศัยอยู่ในประเทศเป็นสังคม สังคมนี้อยู่ร่วมกันเพื่ออะไร ก็ เพื่อให้อยู่ได้สบาย มีความผาสุก ความมั่นคง อนาคตแจ่มใส เพื่อการนี้เราก็ ต้องใช้ความรู้เพื่อที่จะทะนุบำรุงความมั่นคงนี้ ทะนุบำรุงและส่งเสริมให้ ความเป็นอยู่ อยู่อย่างสบายขึ้นทุกที ให้อยู่สบายขึ้นนี้ก็ต้องมีหลายอย่าง ประกอบกัน สิ่งที่สำคัญก็คือต้องเห็นอกเห็นใจกัน และเกื้อหนุนสนับสนุน ซึ่งกันและกัน ถ้าเกื้อหนุนสนับสนุนซึ่งกันและกันด้วยวิชาการก็ยิ่งดี ถ้าพูด ถึงวิชาการในการอยู่เป็นสังคมที่เรียกว่าสังคมศาสตร์ ก็ต้องใช้วิชาการของ สังคมศาสตร์มาทำให้การอยู่ร่วมกันเป็นไปโดยสวัสดิภาพ คือให้รู้ว่า คนเรา มาอยู่เป็นสังคมจะต้องมีระเบียบการอย่างไร เมื่อพูดถึงเช่นนี้ก็หมายความ ต้องมีวิชาทางด้านนิติศาสตร์มาประกอบด้วย คือจะต้องมีระเบียบการ มี กฎหมาย มีระเบียบที่มั่นคง ถ้าพูดถึงระเบียบมีกฎหมายนั้นก็จะต้องรู้ทาง ด้านรัฐศาสตร์ คือการปกครอง ปกครองนี้ไม่ใช่กดขี่ ปกครองคือให้ทุกคน มีการเป็นอยู่โดยไม่เบียดเบียนผู้อื่น โดยส่งเสริมผู้อื่น อันนี้ก็จะต้องมีการ จัดระเบียบปกครองให้ดี เพื่อไม่ให้มีการเบียดเบียนกัน...”

๒๙ มิถุนายน ๒๕๒๐

          พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ในพิธีพระราชทาน ปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา ๒๕๑๘ - ๒๕๑๙  มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร สรุปดังนี้

          “...การให้การศึกษาถือว่าเป็นการให้สิ่งสำคัญที่สุด เพราะเป็นการ หล่อหลอมวางรูปแบบให้แก่อนุชน ทั้งทางความรู้ความสามารถ ทั้งทางจิต วิญญาณ ผู้มีหน้าที่ให้การศึกษาทุกตำแหน่งหน้าที่ จึงมีความรับผิดชอบ อย่างยิ่งต่อชาติบ้านเมือง ในการสร้างพลเมืองที่ดี...”

๘ กรกฎาคม ๒๕๒๐

          พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ในพิธีพระราชทาน ปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยรามคำแหง ณ อาคารใหม่สวนอัมพร สรุปดังนี้

          “...การที่จะทำงานให้สัมฤทธิ์ผลที่พึงปรารถนา คือ ที่เป็นประโยชน์ และเป็นธรรมด้วยนั้น จะอาศัยความรู้แต่เพียงอย่างเดียวมิได้ จำเป็นต้อง อาศัยความสุจริต ความบริสุทธิ์ใจ และความถูกต้องเป็นธรรมประกอบด้วย เพราะเหตุว่าความรู้นั้นเป็นเหมือนเครื่องยนต์ ที่ทำให้ยวดยานเคลื่อนไปได้ ประการเดี่ยว ส่วนคุณธรรมดังกล่าวแล้ว เป็นเหมือนหนึ่งพวงมาลัยหรือ หางเสือ ซึ่งเป็นปัจจัยที่นำพาให้ยวดยานดำเนินไปถูกทางด้วยความสวัสดิ์ คือปลอดภัยจนบรรลุถึงจุดหมายที่พึงประสงค์ ดังนั้น ในการที่จะประกอบ การงานเพื่อตนเพื่อส่วนรวมต่อไป ขอให้ทุกคนสำนึกไว้เป็นนิตย์ โดย ตระหนักว่า การงาน สังคม และบ้านเมืองนั้น ถ้าขาดผู้มีความรู้เป็นผู้บริหาร ดำเนินการ ย่อมเจริญก้าวหน้าไปได้โดยยาก แต่ถ้างานใด สังคมใด และ บ้านเมืองใดก็ตามขาดบุคคลผู้มีคุณธรรมความสุจริตแล้ว จะดำรงอยู่ มิได้เลย....

๑๒ ธันวาคม ๒๕๒๐

          พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ พระราชทานลงพิมพ์ในหนังสือ “วันเด็ก” ประจำปี ๒๕๒๑ สรุปดังนี้

          “...เด็ก ๆ ทำอะไรต้องหัดให้รู้ตัว การรู้ตัวอยู่เสมอจะทำให้เป็นคนมี ระเบียบ และคนที่มีระเบียบดีแล้ว จะสามารถเล่าเรียนและทำการงานต่าง ๆ ได้โดยถูกต้องรวดเร็ว จะเป็นคนที่จะสร้างความสำเร็จและความเจริญให้แก่ ตนเองแก่ส่วนรวมในอนาคตได้อย่างแน่นอน...”

๑๙ มิถุนายน ๒๕๒๒

          พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ณ สวนอัมพร สรุปดังนี้

          “...การให้การศึกษานั้น กล่าวสั้นๆ โดยความหมายรวบยอด คือ การช่วยให้บุคคลค้นพบวิธีดำเนินชีวิตที่ถูกต้องเหมาะสม ไปสู่ความเจริญ และความสุขตามอัตภาพ ตามนัยนี้ผู้สอนมีหน้าที่ต้องหาความรู้และวิธีการ ดำเนินชีวิต มาให้ศิษย์ได้รู้ได้ทราบ เพื่อให้สามารถเรียนรู้ต่อไป และดำเนิน ชีวิตต่อไปได้ด้วยดี จนบรรลุจุดหมาย...”

๒๑ มิถุนายน ๒๕๒๒

          พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ณ สวนอัมพร สรุปดังนี้

          “...การทำงานใด ๆ ไม่ว่าเล็ก ใหญ่ ง่าย ยาก ถ้าย่อหย่อนจาก ความเพียรแล้ว ยากที่จะให้สำเร็จเรียบร้อยทันเวลาได้ การฝึกฝนความ เพียร ถึงหากแรกๆ จะรู้สึกเหน็ดเหนื่อยลำบาก แต่พอได้เพียรจนเป็นนิสัย แล้ว ก็จะกลับเป็นพลังอย่างสำคัญ ที่คอยกระตุ้นเตือนให้ทำงานอย่าง จริงจัง ด้วยใจร่าเริง และเมื่อใดพลังของความเพียรนี้เกิดขึ้น เมื่อนั้น การ งานทั้งหลายก็สำเร็จได้โดยง่ายดายและรวดเร็ว...”

๑๑ กรกฎาคม ๒๕๒๒

          พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ พระราชทานแก่คณะครูและนักเรียนที่ได้รับพระราชทานรางวัล ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน สรุปดังนี้

          “...การศึกษาที่ดีด้านวิชาการเป็นทั้งรากฐานและปัจจัยสำหรับการ สร้างสรรค์ แต่การที่จะนำเอาวิชาการมาสร้างสรรค์ให้สำเร็จได้นั้น จำเป็น ที่สุด ที่จะต้องอาศัยการศึกษาที่ดีด้านอื่น ๆ เข้าประกอบอุดหนุนด้วย การศึกษาด้านอื่น ๆ นั้น หมายถึงการศึกษาอบรมทุก ๆ อย่าง ทั้งทางความ คิด จิตใจและความประพฤติปฏิบัติ อันเป็นตัวสำคัญในการฝึกฝนขัดเกลาให้ บุคคลมีความคิดความฉลาด หนักแน่นในเหตุผลและความสุจริต ละเอียด รอบคอบ รู้จักรับผิดชอบ รู้จักตัดสินใจตามทางที่ถูกต้องเป็นธรรม และ สำคัญอย่างยิ่ง ก็คือมีความขยันหมั่นเพียร อุตสาหะขวนขวายที่จะลงมือ ทำการทุกอย่างไม่ว่าเล็กใหญ่ ง่ายยาก ด้วยตนเอง ดังนั้น ผู้ทำหน้าที่ให้การ ศึกษาจึงต้องสำนึกตระหนักอยู่เสมอ ที่จะต้องให้การศึกษาที่ดีแก่เยาวชนให้ ครบถ้วนทุก ๆ ด้าน ไม่ปล่อยให้ขาดตกบกพร่อง...”

๑๓ กันยายน ๒๕๒๒

          พระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ พระราชทานแก่นิสิตของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตสงขลา ณ เวทีโรงละครกลางแจ้ง มหาวิทยาลัยศรีนคริน ทรวิโรฒ วิทยาเขตสงขลา สรุปดังนี้

          “...การศึกษามิได้มาจากการฟังโอวาท หรือแม้จะฟังการบรรยาย สั่งสอนของครูบาอาจารย์ การศึกษานั้นมาจากการสังเกต การดู การฟัง ของแต่ละคน หมายความว่าดูแล้วฟังแล้วมาพิจารณาให้เป็นประโยชน์ แก่ตน ก็นับว่าเป็นการศึกษาแล้วและเป็นการศึกษาที่ดีที่สุด...”

๒๒ ตุลาคม ๒๕๒๒

          พระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยมหิดล ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร สรุปดังนี้

          “...การรักษาความสมบูรณ์แข็งแรงของร่างกายเป็นปัจจัยของ เศรษฐกิจที่ดี และสังคมที่มั่นคง เพราะร่างกายที่แข็งแรงนั้น โดยปรกติ จะอำนวยผลให้สุขภาพจิตใจสมบูรณ์ด้วย และเมื่อมีสุขภาพสมบูรณ์ดีพร้อม ทั้งร่างกายและจิตใจแล้ว ย่อมมีกำลังทำประโยชน์ สร้างสรรค์เศรษฐกิจและ สังคมของบ้านเมืองได้เต็มที่ ทั้งไม่เป็นภาระแก่สังคมด้วย คือเป็นแต่ผู้สร้าง มิใช่ผู้ถ่วงความเจริญ...”

๒๗ มีนาคม ๒๕๒๓

          พระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ พระราชทานแก่คณะครู และนักเรียนโรงเรียนจิตรลดา ณ ห้องประชุมโรงเรียนจิตรลดา สรุปดังนี้

          “...โรงเรียนนั้นก็มีหน้าที่สำหรับอุปการะและอุ้มชูผู้ที่ยังเยาว์วัย ทั้งในด้านร่างกายและทางจิตใจ เพราะเหตุว่าผู้ที่เกิดมาก็ยังไม่มีประสบการณ์ ย่อมต้องรับประสบการณ์จากผู้อื่นมาก่อน เพื่อที่จะได้ปฏิบัติงานให้เป็น ประโยชน์แก่ตนและแก่ผู้อื่นได้ ตอนแรกก็อาจจะมีสิ่งที่ผิดพลาดไปได้ ทุกคน จึงจำต้องมีผู้อุปการะ ผู้อุ้มชู ผู้ที่จะชี้ทางให้ถูกต้อง เมื่อได้ความรู้ สามารถ ที่จะยืนขึ้นมาได้ด้วยตนเองแล้ว ก็จำเป็นที่จะต้องอุ้มชูตัวเองต่อไปด้วย ฉะนั้น ถึงวาระหนึ่งที่จะต้องถือว่าได้ความรู้พอสมควรที่จะพึ่งตัวเองได้ ใน การปฏิบัติทั่ว ๆ ไปก็ถือว่า การจบการศึกษาในชั้นมัธยมศึกษาแล้ว ก็เป็น ผู้ที่มีความรู้เพียงพอสำหรับที่จะอุ้มชูตัวเอง ที่จะนำตัวไปเพื่อเผชิญปัญหา ต่าง ๆ ของชีวิต ตามความจริงนั้นเราจะต้องฟันฝ่าอุปสรรคไปเรื่อย จะต้อง มีผู้อุปการะตลอดไป ไม่ใช่เมื่อผ่านการศึกษาในโรงเรียนมัธยมแล้วจะมีความ สามารถเต็มที่ แต่มีหลักตามที่กล่าวเมื่อตะกี้ว่า ความรู้ที่ได้รับทั้งในด้าน วิชาการ ทั้งในด้านความประพฤติ รู้จักวางตัวให้ดีนั้น เป็นสิ่งที่จะนำไปโดย สวัสดิภาพให้ผ่านชีวิตไปได้...”

๑๙ มิถุนายน ๒๕๒๓

          พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ พระราชทานแก่คณะอาจารย์ ครู และนักเรียน โรงเรียนวังไกลกังวล ในโอกาสเข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานรางวัล ณ พระราชวังไกลกังวล สรุปดังนี้

          “...วัตถุประสงค์ของการตั้งโรงเรียน หรือการให้การศึกษาแก่ เยาวชนของชาติ คือการให้นักเรียนมีความสมบูรณ์ ไม่บกพร่องพิการ ทั้ง ทางร่างกาย ทั้งทางความคิดจิตใจและคุณธรรม ให้นักเรียนมีวิชาความรู้ที่ ถูกต้องแม่นยำ พร้อมทั้งมีความสามารถที่จะนำความรู้ความคิดไปปฏิบัติใช้ งานด้วยตนเองได้จริงด้วย กล่าวอีกนัยหนึ่ง ก็คือให้นักเรียนแต่ละคนได้มี อุปกรณ์ครบครันสำหรับการครองชีวิตและสร้างสรรค์ประโยชน์ให้แก่สังคม และชาติบ้านเมืองในกาลภายหน้านั่นเอง...”

๒๕ มิถุนายน ๒๕๒๓

          พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร สรุปดังนี้

          “...การศึกษานั้น ไม่ว่าจะศึกษาเพื่อตน หรือจะให้แก่ผู้อื่น สำคัญ อย่างยิ่งที่จะต้องทำให้ได้ตรงตามวัตถุประสงค์ จึงจะได้ผลเป็นคุณเป็น ประโยชน์ มิฉะนั้นจะต้องมีการผิดพลาดเสียหายเกิดขึ้น ทำให้เสียเวลา และเสียประโยชน์ไปเปล่าๆ วัตถุประสงค์ของการศึกษานั้นคืออย่างไร กล่าว โดยรวบยอด ก็คือการทำให้บุคคลมีปัจจัยหรือมีอุปกรณ์สำหรับชีวิตอย่าง ครบถ้วนเพียงพอ ทั้งในส่วนวิชาความรู้ ส่วนความคิดวินิจฉัย ส่วนจิตใจ และคุณธรรมความประพฤติ ส่วนความขยันอดทนและความสามารถ ใน อันที่จะนำความรู้ความคิดไปใช้ปฏิบัติงานด้วยตนเองให้ได้จริง ๆ เพื่อ สามารถดำรงชีพอยู่ได้ด้วยความสุขความเจริญมั่นคง และสร้างสรรค์ ประโยชน์ให้แก่สังคมและบ้านเมืองได้ตามควรแก่ฐานะด้วย...”

๒๖ มิถุนายน ๒๕๒๓

          พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร สรุปดังนี้

          “...เราจะต้องขวนขวายเปิดตาเปิดใจให้เรียนรู้อยู่เสมอ ทั้งโดยทาง กว้างและทางลึก คือเมื่อจะศึกษาเรื่องใดก็ให้พยายามจับเค้าโครงของเรื่อง นั้นให้ได้ก่อน แล้วจึงพยายามมองลงไปในส่วนละเอียดทีละส่วน ให้เห็นชัด โดยถ้วนถี่ เมื่อรู้แล้ว ก็นำมาคิดพิจารณาให้เห็นประเด็น ให้เห็นส่วนที่เป็นเหตุ ส่วนที่เป็นผล ให้เห็นลำดับความเกาะเกี่ยวต่อเนื่องแห่งเหตุและผลนั้น ๆ ไปจนตลอด ให้เข้าใจโดยชัดเจนแน่นอน เพื่อให้สามารถสำเหนียก กำหนดและจดจำไว้ได้ ทั้งส่วนที่เป็นหลักเป็นทฤษฎี ทั้งส่วนเรื่องราวหรือ รายละเอียด จักได้สามารถนำไปสั่งสอนผู้อื่น และนำไปเทียบเคียงใช้ให้เป็น ประโยชน์ในการงาน หรือการคิดอ่านแก้ปัญหาต่าง ๆ ในชีวิตต่อไป...”

๒๘ ตุลาคม ๒๕๒๓

          พระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ พระราชทานแก่ครูอาวุโส ประจำปี ๒๕๒๒ สรุปดังนี้

          “...ครูที่แท้นั้นเป็นผู้ทำแต่ความดี คือต้องหมั่นขยันและอุตสาหะ พากเพียร ต้องเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และเสียสละ ต้องหนักแน่นอดกลั้นและอดทน ต้องรักษาวินัย สำรวมระวังความประพฤติปฏิบัติของตนให้อยู่ในระเบียบ แบบแผนที่ดีงาม ต้องปลีกตัวปลุกใจจากความสะดวกสบาย และความสนุก รื่นเริง ที่ไม่สมควรแก่เกียรติภูมิของตน ต้องตั้งใจให้มั่นคงแน่วแน่ ต้อง ซื่อสัตย์ รักษาความจริงใจ ต้องเมตตาหวังดี ต้องวางใจเป็นกลาง ไม่ปล่อย ไปตามอำนาจอคติ ต้องอบรมปัญญาให้เพิ่มพูนสมบูรณ์ขึ้น ทั้งด้านวิทยา การและความฉลาดรอบรู้ในเหตุและผล...”

๒๒ มิถุนายน ๒๕๒๔

          พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ณ สวนอัมพร สรุปดังนี้

          “...ความรู้นั้นสำคัญยิ่งใหญ่ เพราะเป็นปัจจัยให้เกิดความฉลาด สามารถ และความเจริญก้าวหน้า มนุษย์จึงใฝ่ศึกษากันอย่างไม่รู้จบสิ้น แต่เมื่อพิเคราะห์ดูแล้ว การเรียนความรู้ แม้มากมายเพียงใด บางทีก็ไม่ช่วย ให้ฉลาดหรือเจริญได้เท่าไรนัก ถ้าหากเรียนไม่ถูกถ้วน ไม่รู้จริงแท้ การ ศึกษาหาความรู้จึงสำคัญตรงที่ว่า ต้องศึกษาเพื่อให้เกิด “ความฉลาดรู้” คือ รู้แล้วสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้จริง ๆ โดยไม่เป็นพิษเป็นโทษ...”

๒๕ มิถุนายน ๒๕๒๔

          พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ณ สวนอัมพร สรุปดังนี้

          “...ลักษณะของการศึกษาหรือการเรียนรู้นั้น มีอยู่สามลักษณะ ได้แก่ เรียนรู้ตามความรู้ความคิดของผู้อื่นอย่างหนึ่ง เรียนรู้ด้วยการขบคิด พิจารณาของตนเองให้เห็นเหตุผลอย่างหนึ่ง กับเรียนรู้จากการปฏิบัติฝึกฝน จนประจักษ์ผล และเกิดความคล่องแคล่วชำนาญอีกอย่างหนึ่ง การเรียนรู้ทั้งสามลักษณะนี้ จำเป็นจะต้องกระทำไปด้วยกัน ให้ สอดคล้องและอุดหนุนส่งเสริมกันจึงจะช่วยให้เกิดความรู้จริง พร้อมทั้งความสามารถ ที่จะนำมาใช้ทำการต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพได้...”

๒๗ กรกฎาคม ๒๕๒๔

          พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ พระราชทานแก่คณะครูและนักเรียนที่ได้รับพระราชทานรางวัลฯ ณ ศาลาดุสิดาลัย สรุปดังนี้

          “...การศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างและพัฒนาความรู้ ความคิด ความประพฤติ และคุณธรรมของบุคคล สังคมและบ้านเมืองใด ให้การศึกษาที่ดีแก่เยาวชนได้อย่างครบถ้วนล้วนพอเหมาะกันทุก ๆ ด้าน สังคมและบ้านเมืองนั้นก็จะมีพลเมืองที่มีคุณภาพ ซึ่งสามารถธำรงรักษา ความเจริญมั่นคงของประเทศชาติไว้ และพัฒนาให้ก้าวหน้าต่อไปได้โดยตลอด...”

๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๒๔

          พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ พระราชทานเพื่อเชิญลงพิมพ์ในหนังสือวันเด็ก ปี ๒๕๒๕ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน สรุปดังนี้

          เด็ก ๆ จะต้องรู้ว่าความสุขความสบายมิใช่จะได้มาง่ายๆ เปล่าๆ จะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการประกอบการงานและความดีต่าง ๆ ซึ่งต้องพากเพียร กระทำอยู่ตลอดเวลา. คนที่ทำตัวไม่ดี ไม่หมั่นทำการงาน จะหาความสุข ความสบายไม่ได้. เพราะฉะนั้น เด็กทุกคนจะต้องตั้งใจศึกษาเล่าเรียนความ รู้ความดีไว้ให้เต็มที่ สำหรับช่วยตัวเองให้ได้ดีมีความสุขความเจริญต่อไป.

๘ เมษายน ๒๕๒๔๖

          พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ พระราชทานแก่คณะกรรมการวันกตัญญูกตเวที สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย เพื่อเชิญลงพิมพ์ในหนังสือที่ระลึกวันกตัญญูกตเวที และ เชิญออกเผยแพร่แก่ประชาชนเป็นแนวทางปฏิบัติ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน สรุปดังนี้

          ความกตัญญูกตเวทีคือสภาพจิตที่รับรู้ความดี และยินดีที่จะกระทำ ความดีโดยศรัทธามั่นใจ. คนมีกตัญญูจึงไม่ลบล้างทำลายความดี และไม่ ลบหลู่ผู้ที่ได้ทำความดีมาก่อน หากเพียรพยายามรักษาความดีทั้งปวงไว้ให้ เป็นพื้นฐานในความประพฤติปฏิบัติทุกอย่างของตนเอง. เมื่อเต็มใจและจงใจ กระทำทุกสิ่งทุกอย่างด้วยความดีดังนี้ ก็ย่อมมีแต่ความเจริญมั่นคงและ รุ่งเรืองก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้น. จึงอาจกล่าวได้ว่าความกตัญญูกตเวทีเป็น คุณสมบัติอันสำคัญยิ่งสำหรับนักพัฒนา และผู้ปรารถนาความเจริญก้าวหน้าทุกคน.

๑๕ ธันวาคม ๒๕๒๖

          พระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ พระราชทานนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยขอนแก่น สรุปดังนี้

          “...บางคนก็บอกว่าไม่มีเวลาว่างเลย เพราะว่างานมันมาก แต่ ความจริงเวลาว่างมันมีอยู่เสมอ เวลามีเวลาว่างก็เลยบ่นว่าตอนนี้ว่างไม่รู้ จะทำอะไร โดยมากเป็นอย่างนั้น ถ้าว่างไปเหมือนว่าโหวไม่มีอะไรเลย เมีย โหว่อย่างนั้นก็เลยทำให้เบื่อ เมื่อเบื่อแล้วก็ทำให้ฟุ้งซ่าน เพราะว่าสิ่งใดที่ไม่มี หลัก ไม่มีที่ยึด มันก็แกว่ง เช่นเดียวกับที่ในอ่างน้ำ เวลาเราโดดลงไปในอ่าง น้ำ ในบ่อน้ำ แล้วก็ไม่มีอะไรที่จะยึด ก็ต้องแกว่งแขนกับแกว่งขาสำหรับให้ ว่ายน้ำ คือที่จะตั้งตัวได้ ถ้าไม่ยังงั้นก็ยึดอะไรไม่ได้ก็จมน้ำตาย เวลามีเวลา ว่างก็เช่นเดียวกัน ถ้าไม่มีอะไรยึด ก็เหมือนว่าถูกโยนลงไปในบ่อ แล้วก็ไม่รู้ จะยึดอะไร ก็จะจมเวลาว่างตาย ฉะนั้น เขาก็ตำหนิติเตียนกันเหมือนกันว่า คนที่มีเวลาว่างมากแล้วก็ไม่รู้จะทำอะไร เป็นคนเกียจคร้านบ้าง เป็นคนที่ ไม่ฉลาดบ้าง ถึงต้องจัดให้เวลาว่างนี้เป็นประโยชน์ ก็ดังที่ได้บอกมาว่าได้มี กิจกรรมต่าง ๆ ก็ยินดี เพราะว่าคนเราจะต้องปฏิบัติอะไรต่าง ๆ ด้วยตนเอง และด้วยความคิดของตัวเอง เป็นอิสระ คนเราเป็นอิสรชน ก็ต้องใช้เวลาว่าง นั้นด้วยการปฏิบัติอะไรที่เป็นประโยชน์เป็นของตัวเอง ไม่ใช่ว่าใครมาบังคับ แต่ถ้าตั้งเป็นสมาคม เป็นสโมสร เป็นชมรม แล้วก็ช่วยกันทำ พร้อมเพรียง กันทำงานทำการบ้าง ทำสิ่งที่เป็นบันเทิงแต่ก็เป็นประโยชน์ อย่างนี้ก็ เหมาะสม เพราะว่าเป็นตัวของตัวเอง ไม่มีใครบังคับ แต่จะได้เห็นว่าถ้าไม่มี ระเบียบ ไม่มีทั้งระเบียบการหรือระเบียบวินัย ก็จะไม่สามารถที่จะทำสิ่งใด ที่ดีที่เป็นประโยชน์ หรือถ้าดูในมุมกลับในสิ่งที่ไม่เป็นอันตรายไม่เป็นที่เสียหาย อย่างที่ได้พูดถึงว่าเวลาว่างและไม่มีอะไรทำ มันเหมือนจมน้ำตาย แต่มาเปลี่ยนคำว่า “น้ำ” ด้วยคำว่า “เวลาว่าง” ก็เลยเป็นการ “จมเวลา ว่าง...”

๑ ธันวาคม ๒๕๒๘

          พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ พระราชทานเพื่อเชิญลงพิมพ์ในหนังสือวันเด็ก ประจำปี ๒๕๒๙ ณ ภูพานราชนิเวศน์ สรุปดังนี้

          เด็กต้องหัดทำตัวให้สุภาพอ่อนโยน หมั่นขยัน เอาการ เอางาน เอื้อเฟื้อช่วยเหลือผู้อื่นด้วยความเต็มใจอยู่เสมอให้ติดเป็นนิสัย จักได้เติบโต ขึ้นเป็นคนดี มีประโยชน์ และมีความเจริญมั่นคงในชีวิต.

๑๑ กรกฎาคม ๒๕๒๙

          พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สรุปดังนี้

          “...การจะนำหลักวิชาต่างๆ ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในการงานได้นั้น มีข้อควรถือปฏิบัติสามข้อ คือ ควรเรียนรู้วิชาทุกอย่างอย่างถูกต้องและ กระจ่างแม่นยำ ควรพยายามนำหลักวิชามาใช้ในการปฏิบัติงานอยู่เสมอทุก โอกาส ให้จนชำนิชำนาญ คล่องตัว เป็นนิสัย และควรฝึกหัดทำความคิด จิตใจให้มั่นคงเป็นกลาง เพื่อให้เกิดวิจารณญาณอันถูกต้องเที่ยงตรง สำหรับวินิจฉัยว่าจะควรนำหลักวิชาข้อใดมาใช้กับงานประเภทใดอย่างไร...”

๑๘ ธันวาคม ๒๕๒๙

          พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ณ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สรุปดังนี้

          “...แม้ทุกคนจะออกไปประกอบอาชีพการงานแล้ว ก็ยังมีหน้าที่ที่จะ ต้องศึกษาเพิ่มเติมอีก เพราะวิทยาการในโลกมีมากมาย ทั้งยังคลี่คลาย พัฒนาต่อเนื่องกันไม่ขาดสาย. ที่สำคัญที่สุด ก็คือวิทยาการทั้งหลายนั้นมี ส่วนที่สัมพันธ์และประกอบส่งเสริมกันทั่วทุกสาขา. ผู้มีวิชาอย่างหนึ่งจำเป็น ต้องทราบถึงวิชาอย่างอื่นด้วย. จึงขอให้ท่านทั้งหลายทราบตระหนักในข้อนี้ แล้วพยายามตั้งใจใช้เวลาและโอกาสที่มีอยู่ สร้างเสริมเพิ่มพูนความรู้ทั้ง ด้านลึกและด้านกว้าง คือทั้งวิชาเฉพาะสาขา และวิชาทั่วไป ให้ได้ประโยชน์ สูงสุด ไม่ปล่อยให้ล่วงเลยไปอย่างไร้ค่า. และการถือปฏิบัติให้ได้เคร่งครัด ครบถ้วนดังนี้ จักช่วยให้ท่านประสบความสำเร็จในการงาน เป็นบุคคลที่มี คุณประโยชน์แก่ชาติบ้านเมือง...”

๑๐ มกราคม ๒๕๓๐

          พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ พระราชทานเพื่อเชิญลงพิมพ์ในหนังสือ วันเด็ก ประจำปี ๒๕๓๐ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน สรุปดังนี้

          เด็กๆ นอกจากจะต้องเรียนความรู้แล้วยังต้องหัดทำการงานและทำ ความดีด้วย เพราะการทำงานจะช่วยให้มีความสามารถ มีความขยันอดทน พึ่งตนเองได้ และการทำดีนั้นจะช่วยให้มีความสุขความเจริญ ทั้งป้องกันตน ไว้ไม่ให้ตกต่ำ.

๘ กรกฎาคม ๒๕๓๐

          พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา จากวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร สรุปดังนี้

          “...การทำงานด้วยความรู้ความสามารถ ด้วยความตั้งใจและ เอาใจใส่ศึกษานั้น เป็นการพัฒนาบุคคลให้มีคุณภาพสูงขึ้นโดยแท้ และบุคคลที่มีคุณภาพอันพัฒนาแล้ว ย่อมสามารถจะพัฒนางานส่วนรวมของ ชาติให้เจริญก้าวหน้าได้ดังประสงค์...”

๒๑ กรกฎาคม ๒๕๓๐

          พระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ในพิธีทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเหรียญทองเฉลิมพระเกียรติคุณ ฯ แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย สรุปดังนี้

          “...ความเจริญก้าวหน้าจะต้องเป็นไปควบคู่กัน ทั้งทางวิชาการทั้ง การปฏิบัติ และการใช้หลักวิชาหรือใช้ทฤษฎีให้เกิดประโยชน์ได้แท้จริงนั้น จะต้องใช้ให้ถูกต้อง และสอดคล้องพอเหมาะพอดีกับความเป็นอยู่ ความคิด ความเชื่อถือ และวัฒนธรรม ตามสภาพที่เป็นจริงในภาคพื้นต่างๆ...”

๒๘ กันยายน ๒๕๓๐

          พระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ พระราชทานแก่นักศึกษามหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สงขลา ณ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตสงขลา สรุปดังนี้

          “...การศึกษานั้นก็คือการให้ความรู้แก่เด็ก ๆ ที่กำลังเติบโตขึ้น จน กระทั่งถึงขั้นสูงคือชั้นมัธยมและชั้นอุดมศึกษา ต้องไม่ลืมว่าการให้ความรู้นั้น ย่อมต้องเป็นการให้ความรู้ที่เราได้มาและถ่ายทอดต่อไปให้อนุชน อนุชนแปลว่าคนที่มาทีหลัง หมายความว่าคนที่มีชีวิตมาก่อนก็ได้มี ประสบการณ์ และสะสมประสบการณ์นั้นไว้ถ่ายทอดให้ผู้ที่มาในรุ่นหลัง เพื่อที่จะให้ผู้ที่มาในรุ่นหลังมีโอกาสที่จะมีชีวิตที่เรียกว่ารุ่งเรืองขึ้น ก้าวหน้า ยิ่งขึ้น ถ้ามองในแง่หนึ่ง คนที่เกิดที่หลังย่อมมีโอกาสมากกว่าคนที่เกิดก่อน เพราะคนที่เกิดก่อนก็ต้องหาความรู้ด้วยตนเอง และรับความรู้จากผู้ที่มา ก่อนอีกที แต่ว่าความรู้นั้นก็สะสมไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งในสมัยปัจจุบันนี้ ความรู้รู้สึกว่าจะมากมายเหลือเกิน...”

๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๓๐

          พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ พระราชทานเพื่อเชิญลงพิมพ์ในหนังสือวันเด็ก ปีพุทธศักราช ๒๕๓๑ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน สรุปดังนี้

          ความซื่อสัตย์สุจริตเป็นพื้นฐานของความดีทุกอย่าง. เด็ก ๆ จึงต้อง ฝึกฝนอบรมให้เกิดมีขึ้นในตนเอง เพื่อจักได้เติบโตขึ้นเป็นคนดีมีประโยชน์ และมีชีวิตที่สะอาด ที่เจริญมั่นคง.

๔ ธันวาคม ๒๕๓๑

          พระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ระราชทานแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคล ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สรุปดังนี้

          “...คนรุ่นใหม่มีโอกาสได้เรียนรู้ฝึกฝนมาก สามารถที่จะได้รับความรู้ ทางวิชาการมากมาย จึงมีความสามารถมาก คงอาจมากกว่าผู้ที่มีอายุมาก เพราะว่าผู้ที่มีอายุมาก ผ่านมาแล้ว ในสมัยก่อนนี้วิทยาการยังไม่ก้าวหน้า เท่า การเรียนการรู้ก็อาจลำบากกว่า แม้ถ้าจะดูตามสถิติของการตั้งโรงเรียน หรือวิทยาลัย หรือมหาวิทยาลัย ในสมัยเมื่อ ๓๐ ปีมาก่อนนี้โรงเรียน วิทยาลัย มหาวิทยาลัย หรือวิทยาการก็ยังด้อยมีน้อยกว่า ถ้าไปดูในสถิติก เป็นเช่นนั้น ส่วนสมัยนี้โรงเรียน วิทยาลัย มหาวิทยาลัย มีมากมาย แล้ว ก็วิชาการ วิทยาการต่าง ๆ ก็ก้าวหน้า จึงได้ความรู้มากและจึงมีความ สามารถมาก คนสมัยใหม่จึงมีความรู้ ความสามารถกว่าคนสมัยก่อน ถ้าดู ในแง่นี้ ฉะนั้นการที่คนสมัยใหม่นี้ เรียกว่าหนุ่มๆ สาวๆ สมัยนี้ก็ได้ ถ้าพูด ว่ามีความรู้ความสามารถมากกว่าคนเก่า ก็คงเป็นจริงเพราะว่ามีโอกาส มากกว่า...”

๑๔ มกราคม ๒๕๓๒

          พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ พระราชทานเพื่อเชิญลงพิมพ์ในหนังสือวันเด็ก ประจำปี ๒๕๓๒ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน สรุปดังนี้

          ความรู้ประโยชน์แท้จริงของสิ่งทั้งหลายเป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่ต้องปลูกฝัง ให้หยั่งลึกในตัวเด็ก. เด็กจักได้เติบโตเป็นคนฉลาดเที่ยงตรง และสามารถ สร้างสรรค์ประโยชน์ที่พึงประสงค์ให้แก่ตนแก่ส่วนรวมได้แน่นอนมี ประสิทธิภาพ.

๒๔ มกราคม ๒๕๓๒

          พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ณ ศาลาอ่างแก้ว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สรุปดังนี้

          “...ความรู้ที่ใช้ได้ผลนั้น ต้องเป็นความรู้ที่ถูกต้อง แน่นหนา แม่นยำชำนาญ นำมาใช้การได้ทันที และนอกจากความรู้ด้านลึก คือวิชา เฉพาะสาขาที่ศึกษามาโดยตรงจากมหาวิทยาลัยแล้ว ความรู้ด้านกว้าง คือวิชาการอย่างอื่น ๆ ทั่วไป ย่อมเป็นปัจจัยประกอบส่งเสริมอีกส่วนหนึ่ง ด้วย เพราะเหตุว่าวิชาการทั้งปวงมีส่วนสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันอยู่ไม่มากก็น้อย ถ้าขาดความรู้ด้านกว้าง จะทำให้บุคคลมีความรู้ความคิดคับแคบ ทำการงานได้ไม่คล่องตัว. บัณฑิตจึงจำเป็นต้องพัฒนาความรู้ให้ก้าวหน้า ทันการณ์ทันงานอยู่ตลอดเวลา...”

๑๕ กรกฎาคม ๒๕๓๒

          พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สรุปดังนี้

          “...คนที่ร่วมงานกันในหน่วยงานทั้งหลายนั้น อาจแบ่งออกได้เป็น สองกลุ่มใหญ่ๆ คือกลุ่มที่มีความรู้ในเชิงทฤษฎีสูง กับกลุ่มที่มีความจัดเจน ชำนาญ เพราะมีประสบการณ์ในทางปฏิบัติมาก. เมื่อมาทำงานร่วมกัน ทั้ง สองฝ่ายควรเล็งเห็นความสำคัญในกันและกัน และยอมรับว่าความรู้ความ สามารถที่แต่ละคนมี เป็นสิ่งที่มีคุณค่า. ความเข้าใจชัดระหว่างกันนี้ จะทำให้ แต่ละคนยกย่องให้เกียรติกัน และยินดีที่จะเรียนรู้จากกันและกัน เพื่อพัฒนา ความสามารถของตนในการทำงานให้สูงขึ้น. เมื่อผู้ทำงานมีสมรรถนะ สมบูรณ์ และปฏิบัติร่วมกันด้วยความเข้าใจอันดี ก็จะเกื้อกูลให้การงาน ทุกอย่างดำเนินไปได้โดยราบรื่น มีประสิทธิภาพ และบรรลุผลอันพึงประสงค์ ทุกส่วน...”

๒ สิงหาคม ๒๕๓๓

          พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปีการศึกษา ๒๕๓๒ ณ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สรุปดังนี้

          “...วิชากับความคิดนี้เป็นปัจจัยคู่กันสำหรับใช้ทำงาน, ความรู้วิชา การเป็นศักยภาพพื้นฐานในตัวบุคคล ความคิดอ่านเป็นตัวชักนำเอาวิชาการ ออกมาใช้. ถ้าคิดดี คิดเป็น ก็ใช้วิชาได้ผลเป็นการสร้างสรรค์. ถ้าคิดไม่ถูก ไม่เป็น ก็ใช้วิชาผิดๆ พลาดๆ ก่อเกิดผลเป็นความเสียหาย. บัณฑิตจึงต้อง มีหลักในการคิด.

          หลักสำคัญนั้นอยู่ที่ว่า เมื่อคิดเรื่องใดสิ่งใด ต้องทำใจให้มั่นคง เป็นกลาง มีเหตุมีผล มีความจริงใจ และสุจริตเที่ยงตรง เพื่อความคิดจักได้ กระจ่าง แน่วแน่ เห็นถึงจุดหมายและประโยชน์ที่แท้ของภารกิจของตนอย่าง ถูกต้องครบถ้วน แล้วสามารถสรรหาหลักวิชาส่วนที่เหมาะที่ถูก มาใช้ปฏิบัติ การได้อย่างมีประสิทธิภาพ...”

๑๕ กรกฎาคม ๒๕๓๒

          พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยมหิดล ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร สรุปดังนี้

          “...ความรู้ที่จะศึกษามีอยู่สามส่วน คือความรู้วิชาการ ความรู้ปฏิบัติ การ และความรู้คิดอ่านตามเหตุผลความเป็นจริง ซึ่งแต่ละคนควรเรียนรู้ ให้ครบ เพื่อสามารถนำไปใช้ประกอบกิจการงาน และแก้ปัญหาทั้งปวงได้ อย่างมีประสิทธิภาพ...”

๘ กรกฎาคม ๒๕๓๖

          พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สรุปดังนี้

          “...การทำงานกับการเล่าเรียนนั้นไม่ได้แตกต่างกันมากนัก การเรียนก็เป็นงานอย่างหนึ่ง คืองานสร้างสมความรู้ความคิด ให้เพิ่มพูนและพัฒนางอกงามขึ้นในตนเอง จัดเป็นกิจขั้นต้นที่แต่ละคนต้องทำเพื่อประโยชน์เฉพาะตัว. ส่วนการทำงานนั้น เป็นการนำวิชาความรู้และความคิดที่มีอยู่ไปประกอบการให้สำเร็จประโยชน์ที่กว้างขวางยิ่งขึ้น...”

๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๗

          พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ พระราชทานสมาคมนักเรียนไทยในประเทศญี่ปุ่น ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในการประชุมสามัญประจำปี ณ ห้องประชุมสมาพันธ์เยาวชนญี่ปุ่น กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น สรุปดังนี้

          “...คนที่จะรักษาความเป็นไทยได้มั่นคงที่สุด ดีและเหมาะที่สุด ไม่มีใครอื่นนอกจากคนไทย. เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะอยู่ ณ แห่งใด คนไทย มีหน้าที่ต้องรักษาความเป็นไทยเสมอ ทั้งทางวัตถุ ทางจริยธรรม และ ภูมิปัญญา...”

๔ กรกฎาคม ๒๕๔๐

          พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยมหิดล ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร สรุปดังนี้

          “...การงานทุกอย่างทุกอาชีพ ย่อมจะมีจรรยาบรรณของตนเอง จรรยาบรรณนั้นจะบัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ก็ตาม แต่ก็เป็นสิ่งที่ ยึดถือกันว่าเป็นความดีงาม ที่คนในอาชีพนั้นพึงประพฤติปฏิบัติ. หากผู้ใดล่วงละเมิดก็อาจก่อให้เกิดความเสียหายทั้งแก่บุคคล หมู่คณะ และส่วนรวมได้. เหตุนี้ ผู้ปฏิบัติงานในทุกสาขาอาชีพ นอกจากจะต้องมีความรู้ในสาขาของคนอย่างลึกซึ้ง จัดเจน และศึกษาให้ก้าวหน้าอยู่เสมอแล้ว ยังจะต้อง ยึดมั่นในจรรยาบรรณในวิชาชีพของตน ทั้งข้อที่ควรปฏิบัติและไม่พึงปฏิบัติ อย่างเคร่งครัดด้วย...”

อ้างอิง

          ๑. สำนักราชเลขาธิการ. ประมวลพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาท.

          ๒. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา. ๒๕๕๐. ครูของแผ่นดิน : ประมวลพระบรมราโชวาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้านการศึกษา.

Go to top